COVID-19

ตั้งกรอบเวลา 12-18 เดือน ผลิตวัคซีนป้องกัน ‘โควิด-19’ เชิงอุตสาหกรรม

รัฐ-เอกชน ผนึกกำลังครั้งใหญ่ เร่งพัฒนาวัคซีน ตั้งกรอบเวลา 12-18 เดือน ย้ำหากรอซื้อจากต่างประเทศ อาจไม่ทันเวลา “ไบโอเนท” พร้อมขยายกำลังผลิตจำนวนมาก รอผลวิจัยวัคซีนที่ดีที่สุด

24พค.63 พรรณประภา แถลงข่าว COVID 12
นพ.นคร เปรมศรี

วันนี้ (24 พ.ค.63) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข มีการรายงานความก้าวหน้าวัคซีนโควิด-19 โดยนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง กำลังวิจัย และพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม, สถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง

รวมทั้งไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ขณะนี้มีความก้าวหน้า โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลการวิจัยในรูปแบบวัคซีน mRNA ประสบความสำเร็จในการทดลองในหนู และเริ่มทดลองในลิง

vaccination 2722937 640

ขณะที่นานาชาติ มีการวิจัยวัคซีนอีก 114 ชนิด ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลอง และมีวัคซีนอีก 10 ชนิด ที่มีการทดลองในคน ประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในเวลานี้ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมัน และออสเตรเลีย

ทั้งนี้ การจะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้คนไทยเข้าถึง ต้องนำศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับประเทศ รวมทั้งการประสานความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานวิจัย และผู้ผลิตทั้งในและนอกประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมด้วย หากได้ผลการวิจัยออกมาดี และเป็นไปตามแผน คาดว่าจะได้วัคซีนที่ดีและเหมาะสมกับคนไทย และผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ ภายในเวลา 12-18 เดือน

24พค.63 พรรณประภา แถลงข่าว COVID 14
นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

ขณะที่ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการวิจัยวัคซีนโควิด 19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเตรียมวัคซีนนั้น หากมีประเทศใด ที่ผลิตได้สำเร็จ แน่นอนว่าต้องให้ประชากรของประเทศตัวเองก่อน

ตอนนี้มีจีน และสหรัฐฯ ที่มีความก้าวหน้าไปมาก แต่ 2 ประเทศนี้ ประชากรรวมกันประมาณ 1.8 พันล้านคน แค่ผลิตเพียงครึ่งเดียว อาจมากถึง 800-900 ล้านโด๊ส กว่าจะส่งให้ประเทศอื่น จึงต้องรอเวลา

สำหรับประเทศไทย มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่มีความสามารถสูง มีความร่วมมือ กับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพลซิวาเนีย ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีล่าสุด และการได้เห็นตัวอย่าง ของเทคโนโลยีการวิจัยจากประเทศต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ

จึงมั่นใจว่า เราจะวิจัย และพัฒนาวัคซีนได้ ไม่ช้าไปกว่าประเทศอื่น ๆ มากนัก และอยู่ในกรอบเวลาที่ประมาณ 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ขณะนี้ได้ประสานโรงงานขนาดเล็ก เพื่อผลิตวัคซีน ที่ได้มาตรฐาน สำหรับการวิจัยในคนเอาไว้แล้ว พร้อมกับการเจรจา เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทวัคซีนในประเทศไทยหากผลการทดสอบวัคซีนในแต่ละขั้นตอนประสบความสำเร็จ

24พค.63 พรรณประภา แถลงข่าว COVID 13
วิฑูรย์ วงศ์หาญกุล

ขณะที่นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของบริษัทฯ มีประสบการณ์ มีนักวิจัยที่มีความสามารถ และมีความพร้อม ที่จะรองรับการผลิตวัคซีนโควิด19 ในระดับอุตสาหกรรมได้หลากหลายรูปแบบ ตามผลสำเร็จของการวิจัย

และพร้อมทำความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการวิจัย ว่าจะได้วัคซีนตัวไหนที่ดี และเหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตามขณะนี้บริษัทสามารถดำเนินการการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ขึ้นมาได้เอง ถือว่ารวดเร็ว กว่าวัคซีนปกติทั่วไป และเริ่มทำการทดสอบในหนูไปแล้ว อยู่ระหว่างการรอผล

นอกจากนี้ก็มีความร่วมมือกับ หลายหน่วยงานทั้งรัฐ และเอกชน ถือว่าเรามีความพร้อม ที่จะขยายกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้น สำหรับวัคซีนที่ผ่านการทดสอบแล้วว่า สามารถป้องกันโรคได้ ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศไทยได้เมื่อถึงเวลานั้น

Avatar photo