COVID-19

สธ. ปรับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รองรับ ‘New Normal’

โควิด-19 ตัวเร่งสาธารณสุขไทยปรับระบบการแพทย์ฉุกเฉินรองรับ New Normal พัฒนาระบบคัดกรองผู้ป่วย วางมาตรการเข้มป้องกันการแพร่ระบาด

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยต้องปรับตัวรับวิถี New Normal หรือความปกติใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ลดแออัด ลดรอคอย และมีความปลอดภัย

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาห้องฉุกเฉิน รพ. จะมีทั้งผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินเข้ารับบริการ ซึ่งทำให้สมรรถนะในการดูแลผู้ป่วยหรือเกิดความปลอดภัยลดลง จากความแออัด ไม่ปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ ได้มีการทำการพัฒนาคุณภาพห้องฉุกเฉิน โดยมีระบบการคัดกรองผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินมารับบริการตามนัด และให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับบริการตามความรุนแรง เพื่อรักษาทันท่วงที

นอกจากการคัดกรองความรุนแรงของผู้ป่วยที่ต้องทำอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีแล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องการป้องกันการติดเชื้อทั้งผู้ป่วยและญาติ โดยพิจารณาเรื่องประวัติความเสี่ยง เช่น เคยไปสถานที่มีการระบาดมาก่อนหรือไม่ เคยสัมผัสบุคคลติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ เป็นต้น และพิจารณาเรื่องหัตถการที่ทำให้เกิดฝุ่นหรือฟุ้งละออง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

รพ.

พร้อมกันนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันเริ่มตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การทำระบบห้องฉุกเฉินที่เป็นห้องแยกโรคความดันลบ เป็นต้น รวมถึงอาจจัดพื้นที่เหมาะสม และการจัดชุดอุปกรณ์เพื่อให้ปลอดภัย เช่น เตียงสำหรับส่งผู้ป่วยขนย้ายภายในรถพยาบาลหรือหอผู้ป่วย เต็นท์ในการพ่นออกซิเจนให้ผู้ป่วย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน หากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดระบบบริการ ช่วยคัดกรอง จะช่วยลดผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล เช่น อาศัยการพบแพทย์ทางออนไลน์ การจัดส่งยาถึงบ้าน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย คือ ลดการแออัด ลดการสัมผัส ลดการแพร่กระจายและโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อ ก็จะเป็นความปกติใหม่ของห้องฉุกเฉิน

สำหรับการมาเยี่ยมผู้ป่วยในช่วงที่มีโควิด-19 ความปกติใหม่ คือ 1. สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง 2. ประเมินความเสี่ยงตนเองเพื่อกรองลดการเข้าไปสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง 3. ปฏิบัติตามข้อกำหนดของโรงพยาบาลและให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ 4. ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ก่อนและหลังเฝ้าเยี่ยมผู้ป่วย

Avatar photo