Economics

ยังไม่จบ! มาตรการลดค่าไฟวุ่น ภาระ 2.3 หมื่นล้าน เกลี่ยไม่ลงตัว กฟภ.โวย ‘รับเละ’

มาตรการลดค่าไฟวุ่นไม่เลิก ภาระ 2.3 หมื่นล้าน เกลี่ยไม่ลงตัว กฟภ.เร่งหารือ หลังมีแนวโน้ม ต้องรับภาระทั้งก้อน สร.กฟภ.ออกโรง ยื่นหนังสือมหาดไทย-พลังงาน ลงแก้ปัญหา หวั่นองค์กรขาดสภาพคล่องสะสม 

cover ๒๐๐๕๒๒ 0030 1

รายงานข่าวจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แจ้งว่า จากมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า โดยให้รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ประกอบด้วย

• ลดค่าไฟฟ้า 3%
• ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าไม่เกิน 6 เดือน ของแต่ละรอบบิล
• การคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า
• ผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าอัตราขั้นต่ำ
• ค่าไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 หน่วย
• ขยายเวลาการชำระค่าไฟฟ้าไม่เกิน 6 เดือน ของแต่ละรอบบิล (ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย)
• ใช้ไฟฟ้าฟรี ประเภท 1.1.1 และส่วนลดค่าไฟฟ้า ประเภท 1.1.2 และ 1.2

รวมวงเงินที่ต้องดำเนินการตามมาตรกรรดังกล่าว ประมาณ 23,000 ล้านบาท  กำลังเป็นปัญหา เพราะแนวโน้มให้กฟภ.รับผิดชอบวงเงินทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ กฟภ.ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกรกฎาคม 2563

โดยขณะนี้ ผู้บริหาร กฟภ.กำลังหารือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อหาข้อสรุปแหล่งเงินที่จะมาช่วยรับภาระให้ชัดเจน  หารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเจรจาขยายเวลาชำระค่าซื้อไฟฟ้าออกไป โดยเฉพาะค่าซื้อไฟฟ้าเดือนเมษายน- พฤษภาคมนี้ จำนวน 12,000 ล้านบาท รวมถึงเร่งปรับแผนทางการเงิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้องค์กรดำเนินกิจการต่อไปได้

ดังนั้นเห็นว่า ภาระ 23,000 ล้านบาท จะถูกโยนไปโยนมา และมาตรการที่ กฟภ.ต้องรับเละ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) นั่งไม่ติด เกรงจะเป็นปฐมบทให้องค์กรเกิดปัญหาสภาพคล่องต่อเนื่องสะสม เหมือนหลายๆรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องเป็นกลไกดำเนินนโยบาย “ฟรี” แต่ไม่มีกลไกเคลียร์ภาระที่เกิดตามมา งานนี้สร.กฟภ.ซึ่งละบทบาทไปนาน ต้องออกโรง ยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขอให้รัฐบาล แก้ปัญหา โดยให้ทุกภาคส่วนลงมาช่วยกันแชร์ภาระดังกล่าว

1324099 ตัด

นายกิตติชัย ใสสะอาด ประธานสร.กฟภ. กล่าวว่า เราเห็นด้วยกับการลดภาระค่าไฟให้ประชาชน เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ขณะเดียวกันในฐานะพนักงาน ยังยินดีตัดสวัสดิการด้วย อัตรา 25% เป็นวงเงิน 1,000 ล้านบาทจนถึงสิ้นปี

แต่สิ่งที่เรามองเห็นคือ วงเงินจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว รัฐบาล กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง และกกพ.จะต้องลงมาช่วยกันดูแล และแชร์ภาระที่เกิดขึ้น เพราะตอนนี้เราไม่รู้ว่าหลังจากนี้ หากกฟภ.รับไปคนเดียว จะเกิดภาระทางการเงินอย่างไร เพราะกฟภ.ยังต้องจ่ายค่าซื้อไฟฟ้าให้กฟผ.ตามกำหนด จ่ายล่าช้าโดนปรับ อัตราดอกเบี้ย MOR+2% ต้องแผนการลงทุนที่วางไว้ราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งกระทบต่อการขยายสายเคเบิ้ลไปยังเกาะต่างๆให้มีไฟฟ้าใช้ เป็นต้น

ส่วนที่มีการมองว่าการออกมาเคลื่อนไหวของสร.กฟภ.ครั้งนี้ เพราะต้องการเรียกร้องเรื่องโบนัสของปี 2562 นั้น นายกิตติชัย ระบุว่า ปกติกฟภ.จะให้โบนัสพนักงานเฉลี่ย 1 เดือนเท่านั้น และจะจ่ายล่าช้า เช่นของปี 2562 จะมาจ่ายกลางปี 2563 แต่ผลการดำเนินงานจริงๆเป็นของปี 2562 การจ่ายล่าช้าในปีนี้ เป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ ส่วนปี 2563 จะจ่ายไม่จ่ายอย่างไรเราไม่พูดถึง เพราะทราบสถานการณ์ดี ขึ้นอยู่กับผลประกอบการในสิ้นปี จึงอย่าเข้าใจเราผิด เราออกโรง เพราะเกรงว่าองค์กรจะขาดสภาพคล่องสะสม

” เราเห็นด้วยอยู่แล้วกับนโยบายลดค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระประชาชน แต่ที่เราห่วง คือ ถ้าไม่ช่วยกันลงมาดูวงเงิน 23,000 ล้านบาท จะรับภาระกันอย่างไรอย่างจริงจัง แล้วให้กฟภ.รับไปทั้งหมด องค์กรจะขาดสภาพคล่อง สุดท้ายจะเป็นเหมือนหลายๆรัฐวิสาหกิจ จริงๆสถานการณ์แบบนี้ทุกฝ่ายต้องลงมาช่วยกัน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเอกชน และกฟผ.

Avatar photo