Business

‘ทช.’ แจงเปลี่ยนเสาหลักนำทาง ‘ยางพารา’ เฉพาะที่จำเป็น 7 แสนต้น

“ทช.” แจงเปลี่ยน “เสาหลักนำทางยางพารา” เฉพาะที่จำเป็น 7 แสนต้น จากทั้งหมด 3 ล้านต้น ยันไม่ได้ทุบของเก่าที่ยังใช้งานได้ทิ้ง

ปฐม ทางหลวงชนบท 1463163

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าว ทช. จะใช้งบประมาณ 1.4 พันล้านบาท ดำเนินการเปลี่ยนเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post: RGP) โดยรื้อหรือทุบทิ้งของเก่าที่อยู่ในสภาพใช้งานได้ว่า ทช. ขอชี้แจงว่า แผนการเปลี่ยนเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ ไม่ได้มีการรื้อหรือทุบของเก่าที่อยู่ในสภาพใช้งานได้ทิ้ง แต่จะนำมาปรับเปลี่ยนกับเสาหลักนำทางเดิมใน 3 กรณีดังต่อไปนี้

  • ด้านบำรุงรักษาทาง เป็นการปรับเปลี่ยนเสาหลักนำทาง ทดแทนของเดิมที่ชำรุด/เสียหาย และติดตั้งบริเวณที่มีความจำเป็นต้องติดตั้งเพิ่มเติมเท่านั้น
  • ด้านอำนวยความปลอดภัย เป็นการติดตั้งเสาหลักนำทางในบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงหรือโค้งอันตรายซึ่งยานพาหนะมีโอกาสหลุดโค้งออกไปชนได้
  • ด้านการก่อสร้างถนน/สะพาน และถนนต่อเชื่อมที่ก่อสร้างใหม่ ซึ่งอยู่ในงบประมาณประจำปีอยู่แล้วเป็นการติดตั้งในบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงหรือโค้งอันตราย

S 49618995

การดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

“แผนดำเนินการนำเสาหลักนำทางที่ผลิตจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง อย่างเสาหลักนำทางยางพารา ในระยะเวลา 3 ปี แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2 แสนต้น, ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2 แสนต้น และในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3.05 แสนต้น รวมทั้งสิ้น 7.05 แสนต้น ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสาหลักนำทางของ ทช. ที่มีอยู่ทั้งหมด 3 ล้านต้น โดยจะยึดแนวทางในการปรับเปลี่ยนตามแนวทางข้างต้น” นายปฐมกล่าว

Avatar photo