Finance

โบรกฯ แห่รื้อประมาณการกำไร 6 อุตสาหกรรมใหญ่!!

เมื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 และครึ่งแรกของปี 2561 ออกมาแล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์ได้เริ่มทยอยปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลง หลังจากเห็นสัญญาณกำไรในไตรมาส 2 ปีนี้ลดลงจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของโบรกเกอร์ พบว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 ขณะที่กำไรลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561  ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะปรับประมาณการกำไรปีนี้ลง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการระบุว่าได้เริ่มปรับลดประมาณการมี 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กลุ่มอาหาร,  สื่อ,ค้าปลีก,วัสดุก่อสร้าง,เกษตร และขนส่ง

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินว่า เริ่มเห็นนักวิเคราะห์ปรับประมาณการกำไรลงภายหลังการรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 พบว่า 534 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์( SET) (ที่ฝ่ายวิจัยเก็บข้อมูล) พบว่า รายงานกำไรสุทธิรวมที่ 2.48 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาส 1 ปี 2561 แต่ลดลง 11% จากงวดไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่ดีกว่าคาดเติบโต 2% จากไตรมาส 1 ปี 2561 และเพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาส 2 ปี 2560

1 3

ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ส่วนมากออกมาใกล้เคียงและแย่กว่าคาด ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยเริ่มเห็นนักวิเคราะห์ทยอยปรับประมาณการกำไรในกลุ่มต่างๆ นำโดย กลุ่มอาหาร (ลดลง 4.3%) กลุ่มสื่อ (ลดลง 8.8%) กลุ่มค้าปลีก (ลดลง1.5%) กลุ่มก่อสร้าง (ลดลง 4.9%) กลุ่มเกษตร (ลดลง 7.7%) และกลุ่มขนส่ง (ลดลง 1.6%)  ส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดลดลงเหลือ 108.1 เท่า ถือเป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญของการปรับตัวขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยแนะนักลงทุนจับตาการประชุมนักวิเคราะห์จากนี้ไปเพื่อประเมินประมาณการอีกครั้ง

ช่วงครึ่งเดือนหลังของสิงหาคม 2561 เริ่มคงมุมมองตลาดหุ้นทั่วโลกมีปัจจัยต่างประเทศกดดันการลงทุนมากขึ้น ทั้งประเด็นความเสี่ยง สถานการณ์ทางการเมืองจากอิหร่านและรัสเซีย, สงครามการค้าสหรัฐ-จีน และผลกระทบของเศรษฐกิจและการเงินจากประเทศตุรกี ที่คาดส่งผลอย่างมากต่อค่าเงินในภูมิภาคตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้แนะนักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังการลงทุน

บล.บัวหลวง ระบุว่า ผลประกอบการ บจ.ไตรมาส 2 ปี 2561ที่ ออกมานั้น ในส่วนกำไรสุทธิเติบโตไป 16% จากงวดเดียวกันปีก่อน (หนุนโดยกลุ่ม ท่องเที่ยว ขนส่ง รับเหมาฯ ปิโตร ธนาคาร สื่อสาร อสังหาฯ ยานยนต์) กำไรที่ออกมาต่ำกว่าคาด 7% แต่เป็นเพราะประเมินกำไรพิเศษของ TRUE มากเกินไป หากไม่รวม TRUE กำไรเป็นไปตามคาด

นอกจากนี้ในส่วนกำไรหลักไตรมาส 2 ปี 2561ออกมาดีกว่าที่คาดถึง 5% และคาดแนวโน้มครึ่งปีหลัง ยังคงแข็แกร่งต่อเนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง และ GDP โตเกิน 4%

บล.เอเซียพลัส ระบุว่าโดยรวมพบว่า กำไรครึ่งแรกของ ปี 2561 ทำได้ราว 5.55 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของประมาณการ หรือ ที่ประมาณการทั้งปีที่ทำไว้ 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปี 2561 มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วราว 554 บริษัท คิดเป็น 99% ของ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) รวม กำไรสุทธิรวม 2.6 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะที่ประกาศไตรมาส 2 ปี 2560 พบว่าเติบโตราว 17.6%จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 พบว่า กำไรลดลงราว 10.6% และเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก (Real Sector) มีกำไรสุทธิรวมกันราว 1.92 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9% จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 13.9%จากไตรมาส 1 ปี 2560  และหากเทียบเป็นรายกลุ่มฯ สามารถสรุปภาพรวมของผลการดำเนินงานได้ดังนี้

set25 1

กลุ่มที่ผลประกอบการเติบโตทั้งไตรมาส ปี 2560 (yoy) และไตรมาส ปี 2561 (qoq) คือ

ธนาคารพาณิชย์เติบโต 17.1% yoy และ 1.9% qoq  รับเหมาก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 1,896.1%yoy  และ 47.3%qoq ไอซีที เติบโต 125.5%yoy และ 48.6%qoq  ปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 69.2% yoy แต่อ่อนตัวลง 0.7%qoq

กลุ่มที่กำไรเติบโต qoq แต่หดตัว yoy ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เติบโต 65.8% qoq แต่หดตัว 10.2%yoy

กลุ่มที่กำไรหดตัวทั้ง yoy และ qoq ได้แก่  กลุ่มค้าปลีก หดตัว 5.8%yoy และ 4.3%qoq กลุ่มพลังงาน ลดลง 0.4%yoy และ 36.1%qoq

บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ยังคงมองแนวรับแรกที่น่าสนใจสำหรับการเข้าลงทุนรอบใหม่ที่ระดับดัชนี 1,670 จุด ส่วนแนวรับสำคัญมองที่ 1,650 จุด โดยไม่ได้เป็นกังวลต่อประเด็นที่เกิดขึ้นในตุรกี เนื่องจากไทยยังคงมีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งอย่างมาก อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องติดตามทิศทางของประมาณการ EPS อย่างใกล้ชิด ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มประมาณการ แต่อย่างใด

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ประเมินว่ากำไรสุทธิทั้งตลาดไตรมาส 2 ปี 2561 เพิ่มขึ้น 17% จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 12%จากไตรมาส 1 ปี 2561 เป็น 2.6 แสนล้านบาท หากจัดลำดับรายอุตสาหกรรม เทียบเทียบจากงวดเดียวกันปีก่อน 3 ลำดับแรก ที่กำไรสุทธิเติบโตสูงสุดคือ รับเหมาก่อสร้าง โรงแรมและท่องเที่ยว และขนส่ง แต่กำไรสุทธิลดลงสูงสุดคือ กลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ กลุ่มสินค้าบุคคลและเวชภัณฑ์ และโรงพยาบาล

หากจัดลำดับรายอุตสาหกรรม เทียบไตรมาส 1 ปี 2561  โดย 3 ลำดับแรกที่กำไรสุทธิเติบโตสูงสุดคือ กลุ่มแฟชั่น  อสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง แต่กำไรสุทธิลดลงสูงสุดคือ กลุ่มเหล็ก ขนส่ง และโรงแรมและท่องเที่ยว

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight