COLUMNISTS

ดอกเบี้ยยังไม่ขยับ แต่ความดันเศรษฐกิจพุ่งแล้ว

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
23

การประชุม กนง. หรือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมลงมติ  6 ต่อ 1 เสียงว่า ยังไม่ถึงเวลาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เห็นควรให้ตรึงไว้ที่ 1.5 % ต่อไปอีกหลังจากยืนอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2558

จุดยืนดอกเบี้ยของกนง. สวนทางหลายๆ ประเทศในเอเชีย ไล่เรียงตั้งแต่ จีน อินเดีย ไปจนถึงเพื่อนร่วมประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 2 ประเทศหลัง ปรับขึ้นถี่เป็นพิเศษ

ล่าสุดกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อินโดนีเซีย  ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 ในรอบปี จาก 5.25 % เป็น 5.50 % เพื่อปกป้องค่าเงินรูเปียห์ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจตุรกี หรือ “เคบับ ไคซิส” (ตุรกีขึ้นชื่อเรื่องเคบับ และเป็นเมนูที่คนไทยคุ้นเคย)

ส่วนผลจากเคบับ ไคซิส ต่อประเทศไทยนั้น คนแบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง พูดเหมือนกันทำนองว่า อย่าห่วงประเทศไทยมีกันชนชั้นดี ทั้งยอดเกินดุลเดินสะพัด สำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ ฯลฯ

แม้ กนง.ยังไม่ขยับ(ดอกเบี้ยนโยบาย) แต่ตลาดเริ่มมีปฏิกิริยา และ มีการคาดการณ์ผลที่จะตามมากันแล้ว

ณ ตอนนี้มี แบงก์พาณิชย์ อย่างน้อย 2 แห่ง คือ ไทยพาณิชย์ กับ กรุงศรีอยุธยา ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านไปเรียบร้อย โดยปรับขึ้นด้วยอัตราเล็ก ๆ ระหว่าง 0.05-0.10 % และอีกหลายแบงก์ทำท่าจะขยับตาม

ดูๆไป เป็นธรรมชาติของแบงก์พาณิชย์เลยก็ว่าได้ ที่ชิงขึ้นดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น แต่ช่วงขาลง แม้แบงก์ชาติส่งสัญญาณถี่ยิบก็มักทำเป็นไม่เห็น เช่นเหตุการณ์ช่วงปี 2558 ที่ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ

โยงกับการขยับขึ้นดอกเบี้ยของ 2 แบงก์พาณิชย์ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีคลัง ตอบคำถามสื่อถึงผลกระทบที่จะตามมา สรุปความได้ว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายให้แบงก์รัฐ “คิดอัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดที่เขาดำรงอยู่ได้”

รัฐมนตรีคลังยังย้ำด้วยว่า เขา(แบงก์รัฐ) มีอิสระในการบริหารจัดการ แต่นโยบายของรัฐบาลต้องการให้คนมีรายได้น้อยมีบ้าน เพราะถ้าไม่มีบ้านตอนนี้ หลังจากไทยพัฒนาก้าวข้ามเป็นประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว โอกาสที่คนจนจะมีบ้านเป็นของตัวเองยากเหมือนประเทศญี่ปุ่น ที่พัฒนาจนประชาชนไม่สามารถซื้อบ้านได้แล้ว

คำกล่าวข้างต้นนอกจาก รัฐมนตรีคลังสำทับนโยบายไปยังแบงก์รัฐให้คิดอัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านต่ำที่สุดแล้ว ยังส่งสัญญาณอ้อมๆ ไปยังแบงก์ชาติให้ทราบอีกครั้งด้วยว่า “ให้ดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ” เพราะการประชุม กนง. เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังได้ฝากข้อความ(ผ่านสื่อ)ไปยังแบงก์ชาติมาแล้วครั้งหนึ่งว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมคือ 1.5 %

ส่วนผลที่คาดว่าจะตามมา “ดารณี แซ่จู” ผู้อำนวยการอาวุโสแบงก์ชาติ ออกมาพูดเรื่องนี้ระหว่างการแถลงผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาสสองเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยยอมรับว่า ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม เพราะอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับกระทบกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และกลุ่มที่มีหนี้ครัวเรือนสูง แต่เธอเชื่อว่าผลกระทบคงไม่รุนแรง เพราะแบงก์พาณิชย์จะค่อยๆ ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ถอดความจากความเห็นข้างต้น เหมือนคาดการณ์กันล่วงหน้าแล้วว่า ดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศทางแน่จากขาลงเป็นขาขึ้น แม้กนง.ยังไม่เปลี่ยนจุดยืนดอกเบี้ยก็ตาม และจุดเปลี่ยนครั้งนี้อยากคาดเดาผลกระทบ เพราะเราอยู่กับช่วงดอกเบี้ยขาลงมาหลายปี

อย่าลืมว่าเมื่อดอกเบี้ยขยับไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยแบงก์เท่านั้นที่ขึ้น อัตราดอกเบี้ยโรงรับจำนำ แหล่งที่พึ่งทางการเงินสุดท้ายของคนรากหญ้า ก็ต้องเปลี่ยนตาม

ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของคนไทย อยู่ในระดับ 77.6 % ต่อจีดีพีโดยประมาณ ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ครัวเรือนที่แบกภาระหนี้สูงๆ จะเป็นกลุ่มแรกๆที่เจอแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น

ตำราเศรษฐศาสตร์สายหนึ่งอธิบายว่า ปริมาณเงินสัมพันธ์ กับ อัตราดอกเบี้ย และการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยจะกระทบกับการลงทุน และโยงไปถึงการจ้างงานในที่สุด

นอกจากนี้ ผลจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยยังอาจนำไปสู่การเผชิญหน้า ระหว่างฝ่ายการเมืองกับแบงก์ชาติเช่นที่เคยปรากฎหลายๆครั้งในอดีต

สรุปแล้ว ดอกเบี้ยยังไม่ทันขึ้นจริงๆจังๆ แต่ความดันเศรษฐกิจ ขยับขึ้นไปรอล่วงหน้าแล้ว