COLUMNISTS

มีแต่ระบบที่ตรวจสอบได้เท่านั้น จึงจะป้องกันการทุจริตที่แท้จริง

Avatar photo
262

ปรากฏการณ์ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันอดรนทนไม่ไหว ถึงขั้นร่อนแถลงการณ์เปิดข้อมูลให้สังคมรับรู้ถึงความไม่โปร่งใสในโครงการจัดซื้อดาวเทียม THEOS-2 มูลค่า 7 พันล้านบาท ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ซึ่งเป็นโครงการที่ผ่านการทำข้อตกลงคุณธรรมร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีการส่งตัวแทนเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ 6 คน

แต่ทั้งหมดต้องยกธงขาว ถอนตัวออกมาทั้งยวง เนื่องจากพบปัญหาความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากหลายประเด็นไม่เป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรม

แถมเมื่อส่งข้อสังเกตให้มีการปรับปรุงแก้ไข ก็ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สะท้อนถึงความไม่ใส่ใจที่จะดำเนินการตามความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ แตกต่างจากลมปากที่ผู้นำพร่ำพูด และนำเอามาเป็นประเด็นยกตนข่มคนอื่นว่ามีความโปร่งใสมากกว่าทุกยุคเพราะมีการทำข้อตกลงคุณธรรม แต่ในความเป็นจริง “ข้อตกลงคุณธรรม” ที่ถูกนำมาอ้างถึง กำลังจะกลายเป็นสัญญาที่ไร้ความหมาย

ปัญหาความไม่โปร่งใสในโครงการดาวเทียม THEOS-2 นี้ ไม่ใช่เพิ่งเริ่ม แต่มีความไม่ชอบมาพากลปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปีที่แล้ว

ผู้สังเกตการณ์ชุดแรกขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันได้จัดทำรายงานแจ้งเตือนต่อเนื่องจำนวนถึง 4 ฉบับ อาทิ การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการจัดซื้อหรือทีโออาร์ มีหลายขั้นตอนที่จงใจปิดบังไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ขาดธรรมาภิบาลและเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น มีคณะผู้สังเกตการณ์ลาออกไปก่อนหน้านี้ในปี 2560 รวม 2 คน ก่อนจะลาออกยกชุด 6 คน เมื่อไม่นานมานี้

จะว่าไปแล้วโครงการนี้ไม่ใช่โครงการแรกที่เกิดปัญหาหน่วยงานรัฐเพิกเฉยต่อข้อสังเกตของคณะผู้สังเกตการณ์ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้ท้วงติงการรวมสัญญาและการแบ่งรายได้ 9.75% เพราะอาจทำให้เกิดการตกแต่งบัญชี และรัฐอาจได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าโครงการกันต่อไปโดยไม่ฟังเสียงทักท้วงแต่อย่างใด

ที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันการทุจริตตั้งแต่ต้นทางระหว่างภาครัฐกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้พบปัญหาก็จะใช้วิธีพูดกันเป็นการภายในมากกว่าการออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านสาธารณะ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเปิดโปงปัญหาในโครงการดาวเทียม THEOS-2 จะทำอย่างจริงจังไม่ลูบหน้าปะจมูก แต่ว่ากันไปตามกติกาคือ หากพบว่าไม่มีการแก้ไขให้เกิดความโปร่งใส คณะผู้สังเกตการณ์ก็มีสิทธิที่จะนำข้อมูลรายละเอียดมารายงานต่อสาธารณะ ไปจนถึงการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.และ สตง.ให้ตรวจสอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือข้อตกลงคุณธรรมของกรมบัญชีกลางข้อ 3.6

“ในกรณีที่พบว่า หน่วยงานภาครัฐ ผู้เข้าร่มเสนอราคา / ผู้ทำสัญญา หรือตัวแทนรายใดมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงฯ หรือได้กระทำการใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงฯกำหนด หรือพบเห็นพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต หรืออาจนำไปสู่การทุจริตได้ จะต้องรีบแจ้งหน่วยงานเจ้าของโครงการทราบ เพื่อให้มีการชี้แจงหรือแก้ไขในระยะเวลาที่กำหนด หากหน่วยงานดังกล่าวไม่ชี้แจงหรือแก้ไข ให้ผู้สังเกตการณ์รายงานคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตทันที เพื่อดำเนินการรายงานข้อมูลสู่สาธารณะและอาจแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณา เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น รวมถึงเอกสาร “ข้อตกลงคุณธรรม” ที่คตช.เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 และที่ประชุมครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ด้วย”

ในขณะที่รัฐบาล คสช. ต้องออกมาแสดงความชัดเจนในการจัดการกับเรื่องนี้ ด้วยการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลอย่างโปร่งใส แก้ไขในจุดที่เป็นปัญหา หากเพิกเฉยก็จะยิ่งตอกย้ำว่าการปราบโกงที่พร่ำพูดนักหนาว่าเอาจริงเอาจังเป็นเพียงแค่ลมปากเท่านั้น

ตลอดการบริหารประเทศกว่าสี่ปี เรื่องหนึ่งที่รัฐบาล คสช.หยิบยกมาเป็นผลงานคือ กล่าวอ้างว่าการทุจริตลดน้อยลง มีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่สิ่งที่ปรากฏต่อสาธารณะสะท้อนชัดว่า การใช้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงฉบับนี้ เพื่อปราบโกงไม่เป็นความจริง เพราะการปราบโกงที่ได้ผลที่สุดคือ “การบริหารประเทศที่ถูกตรวจสอบได้” ไม่ใช่แค่ “ตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญ”

กว่าสี่ปีที่ทหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ มีหลายเรื่องที่สังคมคาใจถึงความไม่โปร่งใส การทุจริต รวมถึงธรรมาภิบาลของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นโครงการอุทยานราชภักดิ์ จัดซื้อเรือดำน้ำ แหวนเพชรแม่ นาฬิกาเพื่อน ไปจนถึง ไมค์ทำเนียบตัวละ 145,000 บาท 

แม้ว่าจะยังไม่มีการเอาผิดใครได้เลยก็ตาม แต่ดัชนีคอร์รัปชันไทยเดือนธันวาคม 2560  เปิดเผยโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่าความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในยุครัฐบลคสช.เพิ่มขึ้นถึง 37 % สูงสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2538 และคาดว่าสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเป็น 48 % โดยสาเหตุเกิดจากกฎหมายที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชันถึง 18.8 %

รองลงมาเป็นเรื่องกระบวนการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใสตรวจสอบได้ยาก 15.6 % และความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย และกฎระเบียบ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงคำกล่าวอมตะของลอร์ด แอคตัน ว่า “อำนาจนำมาซึ่งการคอร์รัปชัน อำนาจที่เบ็ดเสร็จยิ่งทำให้คอร์รัปชันได้อย่างไม่มีข้อจำกัด” หรือ “Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely”

แม้ว่าอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทยจะยังเบื่อหน่ายต่อระบอบประชาธิปไตย ที่ถูกใช้ในทางที่ผิดจากนักการเมืองเลวบางกลุ่ม แต่ต้องไม่ลืมว่าระบอบประชาธิปไตยยังคงเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด เพราะมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล การส่องแสงสว่างแห่งการตรวจสอบได้เพื่อความโปร่งใสเป็นวิธีที่ได้ผลเสมอในการป้องกันการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมของชาติ

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญในการออกมาใช้สิทธิ ออกเสียงเพื่อกำหนดชี้ชะตาประเทศให้หลุดพ้นจากปัญหาเดิม ไม่เพิ่มปัญหาใหม่ นำพาชาติไทยไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง

ดร.
15 กค 2561