Business

10 ขั้นตอน ‘การบินไทย’ สู่แผนฟื้นฟู – พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ ดึง15 กุนซือบริหารแผน

 การบินไทย กับ 10 ขั้นตอน เข้าสู่โหมดฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ศาลล้มละลาย คลังจำนนปล่อยการบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ “สมคิด” แจ้งป่วยไม่ร่วมวงประชุมครม. ตั้ง 15 กุนซือบริหารแผน   

19 พฤษภาคม 2563 คงต้องจารึกไว้ว่า เป็นวันสำคัญที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ชื่อว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ ถึงจุดที่การบินไทยต้องยื่นขอ ฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ศาลล้มละลาย  การกระทำลักษณะนี้ไม่  ได้หมายความว่า“ล้มละลาย”ด้วยสภาพที่มี หนี้สินล้นพ้น จนไม่สามารถที่จะให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ค้ำประกันเงินกู้ได้ หากเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้ เท่ากับเป็นการกระทำที่ผิดกฎข้อบังคับการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนติดต่อกัน 3 ปีซ้อนอย่างการบินไทย

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  มีมติให้การบินไทย  เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลล้มละลาย นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าการตัดสินใจอย่างนี้ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด จะช่วยให้การบินไทยเป็นสายการบินที่มีความแข็งแกร่งอีกครั้ง โดยไม่ต้อง ล้มละลาย หรือปลดพนักงานกว่า 2 หมื่นคน

ประยุทธ์20

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่มีการประชุมครม.เกิดขึ้น เลขาธิการครม.ได้รายงานต่อที่ประชุมทันทีว่า วันนี้(19 พ.ค.) มีรัฐมนตรี 2 ท่าน ลาป่วยจึงไม่สามารถเข้าร่วประชุมได้ คือนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับนายสมคิด มีเสียงวิพากวิจารณ์ว่า อาจเป็นเพราะมีเรื่องการบินไทย เสนอเข้าที่ประชุมครม. หรือไม่

เมื่อการบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยศาล การดำเนินงานก็ต้องมีกระบวนการและขั้นตอนที่ชัดเจน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 10 ขั้นตอนด้วยกัน

การบินไทย201

1. ครม.อนุมัติ เข้าสู้กระบวนการฟื้นฟูกิจการการบินไทยภายใต้พ.ร.บ.และกระทรวงการคลังลดการถือหุ้นการบินไทยตามมติครม. ลงต่ำกว่า 50% เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาลล้มละลาย

2. การบินไทยยื่นคำร้อง ขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอตัวเองเป็นผู้จัดทำแผนต่อศาล การบินไทยต้องตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ กระทรวงการคลังปรับสัดส่วนถือหุ้นการบินไทยต่ำกว่า 50% พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ 

3. ยื่นคำร้องต่อศาล เมื่อศาลรับคำร้อง การบินไทยจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 (สภาวะพักชำระหนี้ Automatic Stay) ทำให้สามารถหยุดจำนวนหนี้และดอกเบี้ยได้

4. ส่งหมายให้เจ้าหนี้ เจรจาเจ้าหนี้ทั้งหมด

5. ประชุมเจ้าหนี้

6. ศาลตั้งผู้จัดทำแผน เข้าควบคุมกิจการ

 7. เสนอแผนฟื้นฟู

8. ประชุมเจ้าหนี้ เพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟู

9. ศาลพิจารณาเห็นชอบแผนและตั้งผู้บริหารแผน

10. ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู 

หลังจากครม.อนุมัติ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเจ้าของเรื่องกล่าวว่าเหตุที่ครม. เห็นชอบแผนฟื้นฟูการบินไทย แนวทางเลือกที่ 3 ที่จะให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการผ่านพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เพื่อแก้ไขฐานะของการบินไทย  อยู่ในสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว พบสิ้นปี 2562 การบินไทยมีหนี้สินกว่า 147,000 ล้านบาท ส่วนปี 2563 ได้ประมาณการณ์ว่า การบินไทยจะมีหนี้สินมากกว่า 200,000 ล้านบาท

ศักดิ์สยาม1

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าเพื่อให้การดำเนินการเดินหน้าไปได้ ภายในสัปดาห์กระทรวงคมนาคม จะเสนอรายชื่อบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ 15 รายชื่อ ที่จะเข้ามาทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณา โดยจะคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ สังคมยอมรับ และมีความรู้ความสามารถในธุรกิจการบิน หลังจากที่นายกรัฐมนตรี อนุมัติรายชื่อ ก็จะนำรายชื่อเสนอให้ศาลล้มละลายกลาง พิจารณาอนุมัติเป็น“ผู้บริหารแผน” เพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูต่อไป

กระทรวงการคลังโดย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าเมื่อครม.มีมติให้การบินไทย  ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลแล้ว กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ตอนนี้ ได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปทำแผนขายหุ้นของการบินไทย ที่กระทรวงคลังถืออยู่โดยเร็วและรัดกุม จากนั้นก็จะเสนอให้ ครม. รับทราบ

อุตตม8889 2

ปัจจุบัน กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ในการบินไทยเป็นสัดส่วน 51.03% ต้องขายให้เหลือต่ำกว่า 50% เพื่อให้การบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนจะขายเท่าไหร่ หรือลดสัดส่วนหุ้นลง 3% หรือขายให้กองทุนวายุภักษ์ ยังต้องพิจารณาอยู่

แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวว่าขณะนี้มีผู้คนหลายคน เกิดการวิ่งเต้นที่จะขอเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูของการบินไทย บางคนพยายามวิ่งเต้น โดยกล่าวอ้างว่ารู้จักกับคนนั้นคนนี้ เพื่อที่อยากจะเข้ามาเป็นผู้บริหารแผน แต่เชื่อว่ากระทรวงคมนาคม ในฐาะนผู้รับผิดชอบส่วนนี้ น่าจะคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เกี่ยวกับการเงินรวมทั้งธุรกิจการบินที่แท้จริง แต่ได้รับการยืนยันจาก ผู้มีอำนาจว่า จะไม่นำเอาอดีตผู้บริหารการบินไทย เข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริหารแผน เนื่องจากผู้บริหารการบินไทย ส่วนใหญ่ก็มีปัญหาการบริหารงานในช่วงที่ผ่านมา

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight