Politics

‘สรรเสริญ’ ชี้แค่ทฤษฎี รัฐบาลยังไม่การันตีเลือกตั้ง24ก.พ.62

สรรเสริญ แก้วกำเนิด3 1

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศโรดแมปเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ว่า ส่วนตัวคิดว่า กกต.คงพูดตามทฤษฎีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ที่ว่าจะจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น กฎหมายที่จะโปรดเกล้าฯ ลงมาว่า จะมีการใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ทั้งหมดเป็นการเตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า รัฐบาลเดินหน้าเตรียมการทุกเรื่องไว้อยู่แล้ว วันนี้รัฐบาลก็เตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเรื่องนโยบาย เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไม่ใช่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลจะหยุดการทำงานทุกอย่าง แล้วไปเตรียมการเพื่อมอบนโยบายอย่างเดียวไม่ใช่ แต่รัฐบาลก็ยังทำงานตามแผนนโยบาย และเตรียมการส่งมอบให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะก้าวเข้ามาได้สามารถทำงานต่อไปได้

ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการจัดทำแผนปฎิบัติการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ถึงการทำไพรมารีโหวตว่า ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ต้องทำไพรมารีโหวต ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองอย่างเดียว  ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ตรวจสอบให้การทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองเป็นไปตามกฎหมาย

ดังนั้นผู้ตรวจการเลือกตั้งรวมทั้ง ผู้อำนวยการกกต.ประจำจังหวัด ต้องรู้และเข้าใจเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งหลักการส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองเก่าและใหม่ต่างกัน พรรคเก่าต้องมีอย่างน้อย 4 สาขา แต่พรรคใหม่ส่งได้เลย  ปัจจุบันมีพรรคตามกฎหมายเดิม 69 พรรค พรรคที่แจ้งชื่อใหม่ 117 พรรค รับจดทะเบียนไปแล้ว 4 พรรค  กกต.จะ พยายามให้พรรคการเมืองใหม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งให้ได้

“ทุกวันนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคเลย เนื่องจากถูกเซ็ตซีโร่หมด แต่ละพรรคจะต้องไปหาสมาชิกเพื่อจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนประจำจังหวัด เพื่อทำไพรมารีโหวต แต่ยังไม่สามารถหาสมาชิกพรรคได้เพราะติดคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 แม้จะมีคำขออนุญาตหาสมาชิกจากพรรคการเมืองกว่า 100 ฉบับ กกต.ส่งไปยัง คสช. แต่ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.จะพิจารณา”

ส่วนการทำไพรมารีโหวตถ้าทำตามมาตรา 145 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีรูปแบบทั้งหมด 7-9 รูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดหัวหน้าพรรคก็จะต้องเป็นคนเซ็นรับรอง หรือถ้าทำแบบภาคกระบวนการทำก็ไม่ได้น้อยลงเลย เพราะกฎหมายกำหนดให้สมาชิกพรรคในเขตนั้นๆต้องมีส่วนร่วม แต่ก็มีอีกรูปแบบคือการรับฟังความเห็น ซึ่งขึ้นอยู่ว่าถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด กกต.ก็จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว

สำหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ครั้งนี้เปลี่ยนไปมาก เพราะจะใช้ค่าใช้จ่ายเป็นเครื่องมือทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม โดย กกต.จะออกระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายกว่า 5 เรื่อง อาทิ การกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรค  จากการคำนวนเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งพรรคการเมืองกับ กกต.เคยมีข้อเสนอว่าอาจจะต้องกำหนดค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาทต่อผู้สมัครแต่ละคนในแบบแบ่งเขต

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายก็จะต้องให้ กกต.หารือกับพรรคการเมืองต่างๆ อีกครั้งก่อนสรุปยอดเงินที่ชัดเจน ส่วนค่าใช้จ่ายการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะอยู่ตั้งแต่ 20-70 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้สมัครที่แต่ละพรรคส่ง สำหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง เฟซบุ๊ก ไลน์ ถือว่าน่ากังวลที่สุด เพราะอาจจะมีปัญหาว่าจะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายส่วนนี้อย่างไร

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight