World News

วันอุรังอุตังโลก!! กรีนพีซแฉประชากรลดสวนทางข้อมูลรบ.อินโด

กรีนพีซ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อดัง ออกรายงานเนื่องในวันอุรังอุตังโลก 19 สิงหาคม ระบุ ประชากรอุรังอุตังลดลง แม้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียอ้างว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

GP0STQFST Web size

รายงานของกรีนพีซระบุว่า  วันอุรังอุตังโลกในปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของอุรังอุตังสายพันธุ์บอร์เนียว ซึ่งข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญพบว่ามีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียกลับระบุว่า ประชากรอุรังอุตังได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 10%  ระหว่างปี 2558 – 2560

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ของอินโดนีเซียกล่าวในรายงานฉบับใหม่ชื่อ “สถานะป่าไม้ในอินโดนีเซียปี 2561” ว่า จำนวนอุรังอุตังได้เพิ่มขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับผลการวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ 41 คน ภายใต้การนำของมาเรีย โวกท์ ซึ่งตีพิมพ์ผลงานวิจัยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“ตามลักษณะชีวิตของอุรังอุตังแล้ว การมีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่ในสวนสัตว์ก็ตาม การรวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุมมากที่สุดที่ได้จากการสังเกตตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว เราประเมินได้ว่าจำนวนอุรังอุตังลดลงราว 25-30% ระหว่างปี 2548 – 2558 จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า หลังจากนั้นหนึ่งปีจะมีการเปลี่ยนแปลงของอัตราอุรังอุตังได้ในสถานการณ์แบบนี้”  มาเรีย โวกท์แห่งสถาบันแม็กซ์แพลงค์ เพื่อศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ในเยอรมนีกล่าว

ทีมงานพบว่าครึ่งหนึ่งของอุรังอุตังสายพันธุ์บอร์เนียวได้รับผลกระทบจากการทำลายทรัพยากร และประชากรอุรังอุตังลดลงมากถึง 100,000 ตัว ในช่วง 15 ปีนับจากปี 2542 เป็นต้นมา

“แม้ว่าการล่าสัตว์ และการทำลายป่าไม้จะหมดไปในอนาคต อัตราการลดลงของอุรังอุตังก็อาจเปลี่ยนแปลงไป แต่องค์ความรู้ที่ดีที่สุดที่เรามีในตอนนี้คือ จะยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าผู้เขียนรายงานได้ข้อสรุปว่าอุรังอุตังมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้อย่างไร” เซิร์จ วิช (Serge Wich) จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม  ผู้เขียนร่วมในผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology กล่าว

ทีมสืบสวนของกรีนพีซสากลเปิดโปงการดำเนินธุรกิจตัดไม้อย่างผิดกฏหมายในพื้นที่ป่าพรุที่สำคัญในบริเวณสุไหง ปูทริ  จังหวัดกาลิมันตันตะวันตก ประเทศอินโดนีเซียในเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของอุรังอุตังป่าสายพันธุ์สำคัญสายพันธุ์หนึ่ง

ในพื้นที่เดียวกันนี้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ของอินโดนีเซียเคยมีคำสั่งเมื่อปี 2560 ให้ผู้ถือสัมปทานป่าไม้ บริษัท PT Mohairson Pawan Khatulistiwa หรือ PT.MPK หยุดดำเนินธุรกิจและหยุดทำลายพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งบริษัทได้บุกรุกพื้นที่ป่าพรุเข้าไปลึกขึ้นเรื่อยๆ

ภาพถ่ายจากกรีนพีซอินโดนีเซียในเดือนมีนาคม 2561 แสดงให้เห็นว่าบริษัท PT.MPK ล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำสั่ง และเครื่องจักรของบริษัทยังคงอยู่ในพื้นที่

“รัฐบาลได้ให้สัญญาว่าจะปกป้องพื้นที่ป่าพรุที่ยังหลงเหลืออยู่ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของอุรังอุตัง เราไม่สามารถปล่อยให้มีการทำลายล้างแบบนี้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป  ในขณะเดียวกันยังปล่อยรายงานที่ประเมินผลกระทบต่อสัตว์ป่าต่ำกว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นและให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของป่าอย่างเต็มที่และยั่งยืน” ราตรี กุซูโมฮาร์โทโน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ อินโดนีเซีย กล่าว

GP0STQFO8 Web size

ทั้ังนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้อินโดนีเซีย ระบุว่า มีการทำลายป่าไม้ในอินโดนีเซียระหว่างปี 2533 – 2558 ประมาณ 150 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใกล้เคียงกับพื้นที่ของสหราชอาณาจักรเลยทีเดียว

บัญชีแดงขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า อุรังอุตังทั้ง 3 สายพันธุ์ คือ บอร์เนียว (Bornean) สุมาตรา (Sumatran) และที่เพิ่งค้นพบคือ ทาปานูลี (Tapanuli) อยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight