Telecommunications

กสทช.ถกเกณฑ์ประมูลคลื่นฯใหม่ หลัง 1800 MHz เหลือเพียบ!!

หลังจากวันนี้ (19 ส.ค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) โดยมีผู้ประกอบการ 2 ราย เข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือเอไอเอส

กสทช. ประมูล 1800

หลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz  รวม 45 MHz  แบ่งเป็น 9 ใบอนุญาต ใบละ 5 MHz ผู้เข้าร่วมประมูลสูงสุดรายละ 4 ใบอนุญาต หรือรวม 20 MHz  ราคาขั้นต่ำใบอนุญาตที่ 12,486 ล้านบาท และเคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท

การประมูลเริ่มเคาะราคา รอบแรก 10.00 น. ใช้เวลารอบละ 15 นาที  สรุปการประมูลใช้เวลา 1 ชั่วโมง 15 นาที จบในรอบที่ 4  โดย ดีแทค และ เอไอเอส เคาะประมูลใบอนุญาตคลื่นฯ 1800 MHz  รายละ 1 ใบอนุญาต 5 MHz  โดยมีการเคาะราคาเพิ่ม 1 ครั้ง สรุปทั้ง 2 ราย  ประมูลใบอนุญาตที่ราคา ราคา 12,511 ล้านบาท  ต่อราย

ประมูล 2 ใบอนุญาต มูลค่า 25,022  ล้านบาท

หลังจากจบการประมูลคลื่นฯ 1800 คณะกรรมการ กสทช.ประชุมวาระด่วน เพื่อรับรองผลการประมูลของ ดีแทคและเอไอเอส

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz วันนี้ (19 ส.ค.) มีการเคาะประมูล4 รอบ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 15 นาที ซึ่งการประมูลคลื่นฯ 1800 MHz ครั้งนี้ แบ่งชุดคลื่นความถี่จำนวน 9 ชุด ขนาดชุดละ 2 x 5 MHz ซึ่งมีผู้ชนะการประมูล และได้เสนอราคาชุดคลื่นความถี่รวม 2 ชุด  รวม 10 MHz มูลค่า 25,022 ล้านบาท

กสทช. ประมูล 1800

  • บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)  เสนอราคารวม 12,511 ล้านบาท เป็นผู้ชนะการประมูลจำนวน 1 ชุด คลื่นความถี่ชุดที่ 1 รวม 2 x 5 MHz ในช่วงความถี่วิทยุ 1740 – 1745 MHz คู่กับ 1835 – 1840 MHz
134651
ทีมเอไอเอส ประมูล 1800
  • บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) เสนอราคารวม 12,511 ล้านบาท เป็นผู้ชนะการประมูลจำนวน 1 ชุด คลื่นความถี่ชุดที่ 2 รวม 2 x 5 MHz ในช่วงความถี่วิทยุ 1745 – 1750 MHz คู่กับ 1840 – 1845 MHz
ทีมดีแทค ประมูล 1800
ทีมดีแทค ประมูล 1800

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กสทช. จะประชุมเพื่อรับรองผลการประมูลภายใน 7 วันนับจากวันที่สิ้นสุดการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินประมูลงวดที่ 1 เป็น 50% ของราคาการประมูลสูงสุดของตนเอง พร้อมจัดส่งหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลในส่วนที่เหลือภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งจะจัดส่งภายหลังการรับรองผลการประมูล  ส่วนงวดที่ 2 ชำระ 25% ของราคาประมูลสูงสุด และงวดที่ 3 ชำระ 25% ของราคาประมูลสูงสุด

สำหรับการประมูลครั้งนี้มีทั้งใหม่ 9 ใบอนุญาต  รวม 45 MHz  มีการประมูลวันนี้ จำนวน 2 ใบอนุญาต รวม 10 MHz  เหลือคลื่นฯ 1800 อีก 7 ใบอนุญาต  รวม 35 MHz

134655
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

เสนอบอร์ด กสทช.ปรับวิธีประมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าภาพรวมการประมูลคลื่นฯ 1800 วันนี้ ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ การประมูลคลื่นฯ 1800 จำนวน 2 ชุด 10 MHz ที่มูลค่า 25,022 ล้านบาทถือว่า “ไม่น้อย”  โดยสำนักงาน กสทช. ได้ทำเต็มที่แล้ว

สำหรับคลื่นความถี่ 1800 ที่เหลืออีก 7 ชุด รวม 35 MHz ที่เหลือโดยไม่มีการประมูล กสทช.จะพิจารณาทบทวนเงื่อนไขการประมูลที่เหมาะสมต่อไป ทั้งคลื่นฯ 1800 MHz ที่เหลือ และคลื่นฯ 900 MHz ที่ไม่มีผู้ประกอบการยื่นประมูล โดยสำนักงานฯจะทำการศึกษาเพื่อเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณา  ประเด็นหลักคือการพิจารณาปรับเงื่อนไขการชำระเงินด้วยจำนวนงวดที่มากขึ้น เช่น จากเดิม 3 ปี เพิ่มเป็น 5-6 ปี เพื่อจูงใจผู้ประมูล  แต่ไม่สามารถลดราคาขั้นต่ำคลื่นความถี่ได้ เพราะจะเป็นปัญหากับการประมูลที่ผ่านมา

นายฐากร กล่าวว่าปัจจุบันผู้ประกอบการโทรคมนาคม มีคลื่นฯ เพียงพอสำหรับการใช้ 3จีและ4จี  ขณะที่ประเทศไทยวางเป้าหมายเข้าสู่ 5จี ในปี 2563  ซึ่งจะมีการใช้งานดาต้าทั้งบุคคลและอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (IoT) ดังนั้นจึงเป็นห่วงว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการจะมีคลื่นฯ เพียงพอสำหรับการใช้งาน 5จีหรือไม่

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

คาดเอไอเอสเล็งคลื่นฯ 700 MHz

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่าหลังการประมูลคลื่นฯ 1800 MHz ซึ่ง เอไอเอสและดีแทค ประมูลได้ไปรายละ 5 MHz  จึงมองว่า เอไอเอส จะมีศักยภาพเพิ่มขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีคลื่นเพียงพอต่อการให้บริการอยู่แล้ว แต่ลูกค้าเครือข่ายเอไอเอสมีมากที่สุด เมื่อเทียบกับดีแทคและทรูมูฟ ดังนั้น การได้คลื่นฯ 1800 MHz  อีก 5 MHz  จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ

การที่เอไอเอสประมูลแค่ 1 ใบอนุญาต 5 MHz  จากทั้งหมด 9 ใบอนุญาตในครั้งนี้  คาดว่าเอไอเอส ต้องการรอประมูลคลื่นฯ 700 MHz จำนวน 45 MHz ในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า

ส่วนดีแทค มีคลื่นความถี่สิ้นสุดสัมปทานวันที่ 15 กันยายน 2561 ซึ่งวันนี้ดีแทคได้คลื่นฯ มาเพิ่ม 5 MHz  จะช่วยรักษาฐานลูกค้าเดิมต่อไปได้ เพราะก่อนหน้านี้ กสทช. เคยเสนอเงื่อนไขว่า หากดีแทคต้องการคลื่นฯ จะต้องเข้าประมูลคลื่นฯ 1800 MHz ในครั้งนี้  ซึ่งการได้คลื่นฯของดีแทค จะให้บริการได้เพียงพอช่วงนี้ เพื่อรอการเปลี่ยนผ่านไปใช้คลื่นฯ 2300 MHz  ที่ดีแทคทำสัญญาไว้กับทีโอทีและจะขยายโครงข่ายคลื่นฯ 2300 MHz ในช่วงปลายปีนี้

ส่วนทรูมูฟเอช ไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ โดยระบุว่าที่คลื่นฯให้บริการเพียงพอ เนื่องจากชนะประมูลทั้งคลื่น 1800 MHz  และคลื่นฯ 900 MHz  เมื่อปลายปี 2558

Avatar photo