Telecommunications

เคาะเพิ่ม1 ครั้ง!! ‘ดีแทค-เอไอเอส’ ประมูล 1800 รายละ 1 ใบอนุญาต 5 MHz

วันนี้ (19 ส.ค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) โดยมีผู้ประกอบการ 2 ราย เข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือเอไอเอส โดยการประมูลเริ่มเคาะราคา รอบแรก 10.00 น.

ddd 1

สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz วันนี้รวม 45 MHz แบ่งเป็น 9 ใบอนุญาต ใบละ 5 MHz ผู้เข้าร่วมประมูลสูงสุดรายละ 4 ใบอนุญาต หรือรวม 20 MHz

ขั้นตอนผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเคาะครั้งแรก ซึ่งเป็นราคาขั้นต่ำใบอนุญาตที่ 12,486 ล้านบาท และเคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท

การเคาะประมูลคลื่นฯ 1800 MHz รอบแรกเวลา 10.00 น. รอบละ 15 นาที โดยมีผู้เคาะประมูลที่ Lot A และ Lot G ซึ่งเป็นการเคาะยืนยันที่ราคาขั้นต่ำที่ใบอนุญาตละ 12,486 ล้านบาท และรอบที่ 2 มีเวลา 15 นาที มีผู้ประมูลเคาะเพิ่มที่ราคา 25 ล้านบาท รายละ 1 ครั้ง ที่ราคา 12,511 ล้านบาท

เมื่อเข้าสู่การประมูลรอบ 3 ผู้ร่วมประมูลทั้ง 2 ราย ไม่มีการเคาะราคาเพิ่ม เท่ากับเป็นการยืนยันราคาประมูลคลื่นฯ 1800 MHz ที่ใบอนุญาตละ 12,511 ล้านบาท รวมมูลค่าประมูล 2 ใบอนุญาต 25,022 ล้านบาท รวม 10 MHz โดยผู้ประมูลทั้ง 2 รายไม่มีการเคาะประมูล และไม่มีการเสนอประมูลใบอนุญาต Lot อื่นเพิ่ม เท่ากับเป็นการจบการประมูลรอบที่ 4

กสทช. ได้ประกาศจบการประมูลในเวลา 11.15 น.รวมเวลาการประมูล 1 ชั่วโมง 15 นาที โดย “เอไอเอส” ชนะการประมูล 1 ใบอนุญาต 5 MHz มูลค่า 12,511 ล้านบาท โดยเลือกคลื่นความถี่ชุดที่ 1 ช่วงคลื่นวิทยุ 1740-1745 และ 1835-1840 ส่วน “ดีแทค” ชนะการประมูล 1 ใบอนุญาต 5 MHz มูลค่า 12,511 ล้านบาท เลือกคลื่นความถี่ ชุดที่ 2 ช่วงคลื่นความถี่วิทยุ 1745-1750 และ 1840-1845

ทั้งนี้ หลังการประมูลเสร็จ จะมีการประกาศผลประมูลภายใน 7 วัน โดย กสทช. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นฯ 1800 MHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ให้แก่ผู้เข้าร่วมประมูล ภายหลังผู้เข้าร่วมประมูลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาต ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล

การชำระเงินประมูลคลื่นฯ 1800 MHz แบ่งเป็น 3 งวด งวดแรกชำระ 50% ของราคาประมูลสูงสุด งวดที่ 2 ชำระ 25% ของราคาประมูลสูงสุด และงวดที่ 3 ชำระ 25% ของราคาประมูลสูงสุด

สำหรับการประมูลครั้งนี้มีทั้งใหม่ 9 ใบอนุญาต รวม 45 MHz การประมูลวันนี้จำนวน 2 ใบอนุญาต รวม 10 MHz เหลือคลื่น 1800 อีก 7 ใบอนุญาต รวม 35 MHz

b

ดีแทค นำคลื่นฯใช้งาน 4จี

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น  หรือดีแทค กล่าวว่า “คลื่น 1800 MHz ที่ได้จากการประมูลจะนำมาให้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของลูกค้า 2G ที่มีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก และรวมถึงการนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายบริการ 4G ตอบสนองความต้องการการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตอย่างรวดเร็ว”

พร้อมกันนั้น นายลาร์สยังได้เผยด้วยว่า “ดีแทคต้องขอขอบคุณรัฐบาล และ กสทช. สำหรับการจัดประมูลคลื่นความถี่ที่ประสบความสำเร็จโดยคำนึงถึงข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ดีแทคมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช. จะอนุมัติแผนมาตรการคุ้มครองลูกค้าใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการ และ กสทช. เพื่อไม่ให้ซิมดับและมีผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้า หลังจากสิ้นสุดสัมปทาน”

‘เอไอเอส’ครองคลื่นฯสูงสุด 60 MHz 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอดับบลิวเอ็น บริษัทในเครือเอไอเอส ซึ่งเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz และประมูลได้คลื่นฯ จำนวน 1 ใบอนุญาต 5 MHz ด้วยมูลค่า 12,511 ล้านบาท

e

ส่งผลให้เอไอเอส ถือเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลไลฟ์ที่ถือครองคลื่นความถี่ที่ได้รับจาก กสทช.มากที่สุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมกับการใช้โรมมิ่งกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้มีคลื่นในการให้บริการมากถึง 60 MHz โดยเฉพาะคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีรวมกันถึง 20 MHz  ปัจจุบันเอไอเอส มีลูกค้ากว่า 40 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ

“การประมูลครั้งนี้ ทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 20 MHz ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี 4G เพียงรายเดียวที่มีคลื่นความถี่ติดกันมากที่สุด ช่วยรองรับความเร็วการใช้งานดาต้าผ่านโทรศัพท์มือถือปริมาณมากขึ้น และเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในตลาด รวมทั้งยังสร้างโอกาสและเตรียมความพร้อมรองรับคลื่นความถี่ 5จี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

Avatar photo