Politics

‘กนก’ โพสต์ถามโรงเรียนควรเปิดได้หรือไม่ ถ้าเรียนออนไลน์ไม่ใช่คำตอบ!

ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กนก วงษ์ตระหง่าน (Kanok Wongtrangan) ระบุว่า “โรงเรียนควรเปิดได้แล้วหรือไม่ ถ้าเรียนออนไลน์ไม่ใช่คำตอบ” กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดชัดเจนแล้วว่า ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ไม่ลดลงจนถึงเกณฑ์ปลอดภัยต่อการไปโรงเรียนของนักเรียน โดยเฉพาะชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทาง สพฐ. จะจัดให้มีการสอนออนไลน์ (และออนทีวี) ผ่านช่องทีวีดิจิตอลเพื่อการศึกษา (DTV ช่อง 37-53) ซึ่งจะเริ่มต้นทอดลองการถ่ายทอดการสอนผ่านช่องทีวีดิจิตอลในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการเปิดเทอมที่ถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

ประเด็นที่กลายเป็นข้อกังวลของวงการศึกษา คือ การปล่อยให้นักเรียนหยุดเรียนอย่างยาวนาน ถึงแม้จะมีการเรียนผ่านช่องทีวีดิจิตอลก็ตาม ก็อาจส่งผลเสียหายต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งนี้เพราะความไม่เชื่อว่าการสอนออนไลน์ (และออนทีวี) ผ่านทีวีดิจิตอลที่ สพฐ. จะดำเนินการนั้น จะสามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้อย่างที่ควรจะเป็น (ในบทความก่อนหน้านี้ ผมเคยลงรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นนี้เอาไว้แล้ว ซึ่งสามารถตามอ่านได้ที่ลิงค์ด้านใต้ของบทความนี้)

ในทางกลับกัน ถ้าให้นักเรียนไปโรงเรียนในช่วงเวลานี้ แล้วนักเรียนเกิดติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ก็จะกลายเป็นความไม่สบายใจของผู้ปกครอง และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ด้วยประเด็นความขัดแย้งของแนวทางจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 นี้ จึงกลายเป็นเรื่องที่สังคมให้ความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง

ดังนั้น ผมในฐานะที่ทำงานทางด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง จึงขอเสนอความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ เพื่อหวังว่าจะช่วยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้มีทางออกที่เหมาะสม และถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความห่วงใย ที่มีต่อสถานการณ์อันไม่ปกติ ซึ่งกระทบต่อกลไกทางการศึกษาจนอาจส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนในบ้านเมืองของเรา

คงต้องเริ่มต้นกันด้วย การพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสีย ของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (และออนทีวี) รวมไปถึงการไปโรงเรียนภายใต้สถานการณ์ ที่ภาครัฐยังไม่ให้ความแน่นอนในเรื่องของความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19

กนก

1. การสอนออนไลน์ (และออนทีวี) ทำให้นักเรียนอยู่บ้านเรียนหนังสือได้ โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสน้อย ขณะที่การไปโรงเรียน นักเรียนมีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสมากกว่า

2. การเรียนที่โรงเรียน นักเรียนมีโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะ ทางอารมณ์และสังคมได้มากกว่าการเรียนออนไลน์ (และออนทีวี) เพราะนักเรียนอยู่ที่บ้านโดยไม่มีเพื่อนเล่น และไม่มีปฏิสัมพันธ์อื่นๆ

3. การเรียนออนไลน์ (ออนทีวี) นักเรียนไม่มีโอกาสรับประทานอาหารเช้าและกลางวัน รวมทั้งดื่มนม เหมือนที่ไปโรงเรียน ดังนั้น การเรียนออนไลน์ (และออนทีวี) จะกระทบกับนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนมากกว่านักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี

4. การเรียนออนไลน์ (และออนทีวี) ผ่านช่องทีวีดิจิตอลที่ สพฐ. เตรียมการนี้ มีโอกาสสูงมากที่นักเรียนจะไม่สนใจ และหลุดไปจากการสอนที่ถ่ายทอดอยู่ ความไม่สนใจและหลุดไปจากสาระที่สอน จะส่งผลให้นักเรียนขาดความต่อเนื่องในการเรียนของคาบชั่วโมงต่อไป และสุดท้ายมีโอกาสที่จะหลุดจากการเรียนไปเลย คือไม่อยากไปโรงเรียนเลย ถึงแม้โรงเรียนจะเปิดสอนตามปกติแล้วก็ตาม (เมื่อการระบาดของเชื้อไวรัสสิ้นสุด)

5. ข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ (และออนทีวี) เหล่านี้ เมื่อนำขึ้นมาพิจารณากับความเสี่ยงของนักเรียนต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 แล้ว แน่นอนว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน คงจะไม่มีใครต้องการให้เกิดการติดเชื้อของนักเรียน จึงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ควรเลือกการเรียนออนไลน์ (และออนทีวี) หรือการให้นักเรียนไปโรงเรียน

นักเรียน11

 

ทั้ง 5 ประเด็น ที่ผมนำขึ้นมากล่าว เพื่อให้เข้าใจปัญหาสำคัญที่ต้องทำการแก้ไข แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหนทางใด ก็ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า นักเรียนจะไม่ติดเชื้อไวรัส (ถ้าไปโรงเรียน) และไม่มีใครยืนยันได้ว่า นักเรียนจะได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตามเป้าหมายที่ควรจะเป็น ผ่านการเรียนออนไลน์ (และออนทีวี) สิ่งที่ควรต้องมาให้น้ำหนักก็คือ คำถามที่ว่า ใครควรจะเป็นผู้ตัดสินใจว่านักเรียนควรจะไปโรงเรียน หรือควรจะเรียนออนไลน์ (และออนทีวี)

ถ้า สพฐ. จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แล้วให้นักเรียนทั้งประเทศปฏิบัติตาม ผมคิดว่าคงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

ที่สำคัญ ความรับผิดชอบด้านสาธารณสุข ในบริเวณพื้นที่ตั้งของแต่ละโรงเรียนนั้น ก็มีบริบทสภาพแวดล้อมตามความเข้าใจและความคุ้นเคยของคนในพื้นที่ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในบริเวณดังกล่าว

ดังนั้น คณะบุคคลที่ควรต้องตัดสินใจ ว่าสถานการณ์ระบาดของไวรัสในบริเวณพื้นที่ตั้งของโรงเรียนนั้นๆ จะปลอดภัยพอที่จะให้นักเรียนไปโรงเรียนได้หรือไม่ น่าจะให้คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน อันประกอบด้วย ตัวแทนผู้ปกครอง (พ่อแม่) บุคคลในชุมชน ครู และผู้บริหารโรงเรียน รวมไปถึงแพทย์ในพื้นที่ดังกล่าวเข้าร่วมให้ความเห็นก็น่าจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยตามอำเภอใจของ สพฐ.

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight