Opinions

รู้ไว้!! ฟื้นฟูกิจการกับการล้มละลาย – ถนนคนละเส้น คนละสาย 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight
4794

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยขอนำข้อเขียนของ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. ) อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม มาเผยแพร่ โดยระบุว่าไม่กี่วันที่ผ่านมา เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงได้ยินคำว่า “การฟื้นฟูกิจการ” (Reorganization) ตามกฎหมายล้มละลายแล้ว อาจมีคำถามว่าการฟื้นฟูกิจการมีความหมายและประโยชน์อย่างไร ใครสามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้บ้างและ ที่สำคัญการฟื้นฟูกิจการ คือ การล้มละลายหรือไม่ ในฐานะที่เคยเป็นอดีตเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี และทำงานที่กรมบังคับคดีมาเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ที่ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาแบ่งปัน และแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันตามที่ได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่ ดังกล่าว

รื่นวดี สุวรรณมงคล1

ก่อนที่จะลงรายละเอียดจะขอกล่าวให้ชัดเจนตั้งแต่ย่อหน้าแรกนี้เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันเลยว่าการฟื้นฟูกิจการไม่ใช่การล้มละลายหรือการที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์สิ่งที่ทำให้หลาย ๆ ท่านอาจเข้าใจว่าการฟื้นฟูกิจการคือการล้มละลายคิดว่าคงเป็นเพราะบทบัญญัติของกฎหมายว่า ด้วยการฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายจึงอาจทำให้บางท่านเข้าใจว่าการยื่นขอฟื้นฟูกิจการคือ การยื่นขอล้มละลายในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่หลายคนคงได้ยินคำว่า Chapter 11 การฟื้นฟูกิจการก็บัญญัติไว้ในกฎหมายล้มละลาย เช่นเดียวกัน

ดังนั้น การฟื้นฟูกิจการ กับการล้มละลาย เป็นถนนคนละเส้น คนละสาย อย่างแน่นอน  การฟื้นฟูกิจการถือ เป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติหรือพูดง่ายๆ ว่าผู้ยื่นขอให้มีการฟื้นฟูกิจการต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going Concern) จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลายทั้งเจ้าหนี้ภายในและต่างประเทศ และที่ขาดไม่ได้คือ จะเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุง โครงสร้างองค์กรกระบวนการทำงานและแผนธุรกิจเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยอาจมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอก บริษัท มาร่วมดำเนินการ ในขณะที่การล้มละลาย หรือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น จะไม่ได้เป็นการทำให้ธุรกิจดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการมุ่งไปสู่กระบวนการค้นหา และรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อนำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัดและนำมาขายทอดตลาด และในขณะที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กรมบังคับคดีจะเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

การฟื้นฟูกิจการเกิดขึ้นได้อย่างไร?

การฟื้นฟูกิจการจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการไปยังศาลล้มละลายกลางคือกฎหมายกำหนดให้ทั้งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้เมื่อเข้าเงื่อนไขดังนี้คือ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ (inability to pay)

(2) เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียว หรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

ในกรณีของธุรกิจขนาดใหญ่หรือในกรณีที่เป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) คือลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาทลูกหนี้ที่เป็นคณะบุคคลห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาทหรือลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท

(3) หนี้จำนวนแน่นอนดังกล่าว จะถึงกำหนดชำระในทันทีหรือในอนาคตก็ได้

(4) มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

จะเห็นได้ว่าการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของไทยตามที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงในปี 2559 ถือเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเข้าไปฟื้นฟูกิจการเพื่อรักษาความอยู่รอดของธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิมคือเมื่อพบว่าลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้เช่นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดและเมื่อได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้มีกระแสเงินสดไม่พอชำระหนี้เป็นต้นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ก็สามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลได้โดยไม่ต้องรอจนถึงกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแบบเดิมซึ่งหลักการที่แก้ไขปรับปรุงใหม่นี้ถือว่าสอดคล้องกับหลักสากลจึงเป็นการเปิดโอกาสเป็นครั้งแรกให้ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกับ บริษัท ขนาดใหญ่อันเป็นการช่วยรักษาธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) ไม่ให้ถูกฟ้องล้มละลายแบบเดิมและที่สำคัญจะช่วยรักษาการจ้างแรงงานของธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีการจ้างแรงงานกว่า 12 ล้านรายและในปี 2561 ได้ปรับปรุงการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ บริษัท ขนาดใหญ่โดยเพิ่มเงื่อนไขในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการให้มีกรณีไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้

เงื่อนไขของการพิจารณาให้มีการฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ นอกจากการมีหนี้สินจำนวนแน่นอนแล้ว เงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องมีเหตุอันสมควร และมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้

กระบวนการบริหารจัดการภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ

จุดนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูกิจการ คือเมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชำระหนี้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า automatic stay เกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

สภาวะการพักการชำระหนี้ นี้เองที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้และเป็นจุดแข็ง ทั้งนี้เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการไปต่อได้และดูแลสภาพคล่อง (liquidity) ของธุรกิจโดยไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจหรือกิจการจะถูกเรียกให้ชำระหนี้ หรือถูกฟ้องร้องสภาวะการพักการชำระหนี้ หากกล่าวให้เห็นภาพเสมือนหนึ่งธุรกิจ หรือกิจการจะอยู่ภายใต้ร่มคันใหญ่ที่จะป้องกันการถูกฟ้องร้องถูกบังคับคดีถูกบังคับชำระหนี้ถูกงดให้บริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้นอย่างไรก็ดีประโยชน์ข้างต้นที่ลูกหนี้จะได้รับต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ได้อาศัยการพักชำระหนี้เป็นเหตุของการประวิงคดีดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผู้ที่มาพึ่งศาลจะต้องมาศาลด้วยมือสะอาด” (He Who comes to equity must come with clean hands)

สำหรับหน้าที่ของลูกหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอย่างไรนั้นกฎหมายก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามที่จำเป็นของธุรกิจเท่านั้นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ดังนั้นลูกหนี้จะจำหน่ายจ่ายโอนให้เช่าชำระหนี้ก่อหนี้หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินไม่ได้เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

กลต

ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนคือใคร?

ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและบริหารกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้ทำแผน หมายถึงผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยจะเป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งตั้งเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้และสิทธิ์ตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ตกแก่ผู้ทำแผนยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล

ผู้ทำแผนต้องมีคุณสมบัติ ตามที่กฎกระทรวงว่า ด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผน และผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการโดยต้องมีประสบการณ์ในการรับจัดกิจการและทรัพย์สินของผู้อื่น มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือที่ปรึกษาทางบัญชี หรือที่ปรึกษาทางกฎหมายผู้บริหารของนิติบุคคลต้องมีจริยธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริตและมีหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานที่รัดกุมและเชื่อถือได้ ทั้งนี้ลูกหนี้อาจขอเป็นผู้ทำแผนเองก็ได้

ในการเสนอผู้ทำแผนกฎหมายกำหนดให้ ทั้งลูกหนี้หรือเจ้าหนี้สามารถ เสนอผู้ทำแผนได้ ซึ่งหากศาลเห็นว่า ผู้ที่เสนอเป็นผู้ทำแผน ยังไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน หรือมีการคัดค้าน ศาลจะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จัดประชุมเจ้าหนี้โดยเร็ว เพื่อให้เจ้าหนี้ได้ลงมติในการเลือกผู้ทำแผน และเมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้เลือกผู้ทำแผนได้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องรายงานศาลทราบเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หากยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผนเมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการกฎหมายกำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดลง และให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดหรือหลายคน หรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว โดยมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปทั้งนี้ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน

ผู้บริหารแผน หมายถึงผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามทำนอง เดียวกับผู้ทำแผนเว้นแต่วัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจกำหนด ให้เป็นที่ปรึกษาทางด้านการบริหารงาน

กฎหมายกำหนดให้สิทธิ และอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนโอนไปยังผู้บริหารแผนตั้งแต่วันที่ผู้บริหารแผนได้รับทราบคำสั่งศาลที่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการที่เป็นความตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นแผนฟื้นฟูกิจการที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผน และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว โดยกฎหมายกำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการมีรายละเอียดต่าง ๆ โดยเฉพาะหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการอันประกอบด้วยขั้นตอน ของการฟื้นฟูกิจการการชำระหนี้ การยึดกำหนดเวลาชำระหนี้การลดจำนวนหนี้ลงและการจัดกลุ่มเจ้าหนี้การลดทุนและเพิ่มทุนการก่อหนี้และระดมเงินทุนแหล่งเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สิน

และเงินทุนการจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้และเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใดรวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน

ลูกหนี้302

ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ จากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

Win Win ทุกฝ่าย คือการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเห็นว่าจะเป็น win-win ทั้งเจ้าหนี้ลูกหนี้และผู้ถือหุ้นรวมทั้งสังคมด้วย เพราะยังสามารถรักษากิจการให้ดำเนินการได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงต่อการถูกเลิกกิจการ และการถูกฟ้องล้มละลาย อันจะช่วยรักษาการจ้างงานและห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ไว้ได้ และที่สำคัญการฟื้นฟูกิจการจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากกว่าการล้มละลาย

นอกจากนี้ การฟื้นฟูกิจการจะเป็นการเปิดโอกาส ให้ธุรกิจสามารถปรับโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงานและแผนการดำเนินธุรกิจด้วย

สำหรับสิทธิของเจ้าหนี้กฎหมายกำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันซึ่งต่างกับการล้มละลายที่เจ้าหนี้ทุกรายจะได้รับส่วนเฉลี่ยในการชำระหนี้เท่ากัน

กิจการภายหลังจากการเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการลูกหนี้จะกลับมาบริหารจัดการกิจการได้หรือไม่

การเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการเปรียบเสมือนคนไข้ที่มีอาการป่วยเข้ารับการรักษาตัวเพื่อดูแลรักษาให้หายจากการเจ็บป่วยโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ภายหลังจากนั้นเมื่อคนไข้หายป่วยและมีร่างกายที่แข็งแรงและทำอะไรได้ตามปกติที่ผ่านมามี บริษัท หลาย บริษัท ที่เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการและเมื่อการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จก็กลับมาเป็น บริษัท ที่มีความเข้มแข็งและมีการเติบโตทำนอง“ฟ้าหลัง”

เมื่อศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ในกรณีที่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนผู้บริหารของลูกหนี้จะกลับมามีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามเดิม และผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป

การฟื้นฟูกิจการจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของธุรกิจที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่มีเหตุผลความจำเป็นและมีช่องทางในการดำเนินธุรกิจต่อไป 

ขอบคุณภาพ: นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เฟซบุ๊กสำนักงาน กลต.