Politics

น้ำท่วมส่อแววยืดเยื้อ สถานการณ์ยังหนักใน 9 จังหวัด

น้ำท่วม
ภาพจาก ปภ.กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

เปิดสถานการณ์น้ำท่วม พบ 9 จังหวัดยังประสบภัย ประสานเร่งระบายน้ำต่อเนื่อง – ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยเร็ว

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดสถานการณ์ภัย รวม 38 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 29 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 9 จังหวัด แยกเป็น

  • สถานการณ์ภัยจากพายุโซนร้อน “เบบินคา” 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน พะเยา เชียงราย และลำปาง
  • สถานการณ์ภัยจากพายุโซนร้อน “เซินติญ” 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม อุบลราชธานี บึงกาฬ กาฬสินธุ์ และเพชรบุรี

ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว

นายชยพล ธิติศักดิ์
นายชยพล ธิติศักดิ์

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน “เบบินคา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 – 19 สิงหาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มใน 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน รวม 35 อำเภอ 122 ตำบล 472 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,252 ครัวเรือน 13,425 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัด รวม 25 อำเภอ 110 ตำบล 454 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,228 ครัวเรือน 13,381 คน ได้แก่

  • น่าน น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเมืองน่าน อำเภอเชียงกลาง อำเภอภูเพียง อำเภอเวียงสา และอำเภอทุ่งช้าง รวม 50 ตำบล 202 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,365 ครัวเรือน 5,917 คน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
  • พะเยา น้ำไหลหลากและ เกิดดินสไลด์ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ อำเภอแม่ใจ อำเภอเมืองพะเยา และอำเภอดอกคำใต้ รวม 25 ตำบล 154 หมู่บ้าน 3 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,680 ครัวเรือน 6,970 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
  • เชียงราย น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ลาว อำเภอเทิง อำเภอพาน อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอแม่จัน รวม 22 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 80 ครัวเรือน 216 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
  • ลำปาง น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังเหนือ อำเภองาว อำเภอเมืองปาน และอำเภอแจ้ห่ม รวม 13 ตำบล 34 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 103 ครัวเรือน 278 คน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
น้ำท่วม
ภาพจาก ปภ.กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

ส่วนสถานการณ์จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เซินติญ” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม – 19 สิงหาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มใน 32 จังหวัด รวม 109 อำเภอ 405 ตำบล 2,350 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,161 ครัวเรือน 149,831 คน ผู้เสียชีวิต 2 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 5 จังหวัด รวม 24 อำเภอ 137 ตำบล 1,041 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,493 ครัวเรือน 58,005 คน ได้แก่

  • นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอปลาปาก อำเภอท่าอุเทน อำเภอธาตุพนม อำเภอนาแก อำเภอวังยาง อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า และอำเภอนาทม
  • อุบลราชธานี ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเขื่องใน
  • บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอโซ่พิสัย อำเภอปากคาด และอำเภอศรีวิไล
  • กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย อำเภอดอนจาน และอำเภอร่องคำ
  • เพชรบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง และอำเภอบ้านลาด ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำภาพรวมระดับน้ำเพิ่มขึ้น

สำหรับประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight