Business

‘บินไทย’ เตรียมถกสหภาพฯ ขอหั่นเงินเดือนเพิ่ม ประคองให้พอจ่ายพนักงานถึง ก.ค.

“การบินไทย” เตรียมถกสหภาพฯ 25 พ.ค. ขอหั่นผลตอบแทนต่อถึงเดือน มิ.ย. พร้อมเจรจาให้ช่วยลดเงินเดือนเพิ่ม หวังประคองสภาพคล่องให้พอจ่ายพนักงานถึง ก.ค.

การบินไทย55

นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ การบินไทยจะจัดการประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเวทีประชุมร่วมระหว่างฝ่ายบริหารระดับสูงและตัวแทนสหภาพฯ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานการบินไทย หลังจากที่ผ่านมาบริษัทให้พนักงานหยุดงานเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่ 4 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563 พร้อมกับปรับลดเงินเดือนลงเฉลี่ย 10-50% ซึ่งสหภาพฯ ก็จะขอรับทราบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาบริษัทในครั้งนี้ด้วยว่า มีแนวทางเป็นอย่างไร

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายบริหารเตรียมเสนอให้มีการขยายระยะเวลาการปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทนพนักงานออกไปอีก 1 เดือน รวมเป็นทั้งสิ้น 3 เดือน คือระหว่างวันที่ 4 เมษายน-31 มิถุนายน 2563 จากเดิมที่ได้ประกาศปรับลดเงินเดือนไปแล้วเป็นเวลา 2 เดือน ระหว่างวันที่ 4 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงาน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีภาระต้องจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 1,176 ล้านบาท โดยการปรับลดเงินเดือนเพิ่มอีก 1 เดือนจะมีส่วนช่วยให้องค์กรสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในช่วงที่การบินไทยยังไม่มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กรเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารอาจจะขอเพิ่มอัตราการปรับลดเงินเดือนพนักงานเพิ่มเติมด้วย แต่ก็ต้องรอการพิจารณาในที่ประชุมด้วยว่า ตัวแทนสหภาพฯ จะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร

B777 200ER การบินไทย

สาเหตุที่ฝ่ายบริหารเตรียมเสนอให้มีการปรับลดเงินเดือนพนักงานต่ออีก 1 เดือนนั้น เพราะต้องการนำเงินเดือนส่วนที่ถูกปรับลด ไปเป็นเงินเดือนจ่ายให้พนักงานในงวดถัดไป ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ผลจากการปรับลดเงินเดือนช่วง 2 เดือนแรก คือตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563 ทำให้การบินไทยกลับมามีเงินเพียงพอที่จะนำมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานต่อได้อีก 2 เดือน จนสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม 2563 จากเดิมที่สภาพคล่องในการจ่ายเงินเดือนพนักงานของบริษัทจะหมดลงในเดือนพฤษภาคม 2563

“การแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัทก็ดำเนินต่อไปโดยฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหาร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจน100% ว่าจะเป็นรูปแบบใด แต่ในส่วนของการดูแลพนักงานกว่า 2.1 หมื่นคนนั้นเป็นหน้าที่ที่ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ต้องทำคู่ขนานกันไปด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นอีก ซึ่งขณะนี้ทราบว่า ฝ่ายบริหารได้พยามยามเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อขอผ่อนผันขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก เพื่อให้บริษัทดำรงสภาพคล่องไว้ให้มากที่สุด ในภาวะที่การบินไทยไม่สามารถหารายได้เพิ่มได้ หากเจ้าหนี้ยอมช่วยเหลือผ่อนผัน อาจจะทำให้แรงกดดันเรื่องค่าใช้จ่ายพนักงานลดน้อยลงได้” แหล่งข่าวกล่าว

Avatar photo