Business

เปิดแผนลับ!! ‘ล้มละลายการบินไทย’ภายใต้คำสั่งศาล

เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทยภายใต้ มติคนร. เสนอปรับโครงสร้างให้หลุดพ้นจากรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่องระยะสั้น  แถมเพิ่มทุนกว่า 8 หมื่นล้าน ขณะคมนาคมมองเป็นแผนสร้างภาระรัฐบาล หวั่นใส่เงินสูญเปล่า มีความเสี่ยงสูง คาดยึดแนวเสนอครม.ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลทันที หลังปรับถือหุ้นรัฐวิสาหกิจเป็นประเภท 3  รัฐไม่มีความเสี่ยง ยังทำการบินไทยปกติ 

แผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบาย และกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.)  ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการำนเสนอแผนรายละเอียดการฟื้นฟูการบินไทย โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ร่วมจัดทำแผนรายละเอียดก่อนเสนอเข้าครม.ใหม่

ประยุทธ์3 1

แหล่งข่าวจากคนร. กล่าวกับ TheBangkokInsight ถึงแผนฟื้นฟูการบินไทยว่าสาเหตุที่ต้องเร่งฟื้นฟู เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ขาดทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ทำให้ขาดเสถียรภาพทางการเงิน สภาพหนี้สินต่อทุน อยู่ในสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว ฐานะการเงินของการบินไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ ประกอบกับต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้กระแสเงินสดจะหมดลงในเดือนมิถุนายนนี้ การบินไทยต้องการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง

คณะทำงานของการบินไทยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะขาดทุน 59,062 ล้านบาท ขาดกระแสเงินสด 53,243 ล้านบาท EBITDA ติดลบ 28,433 ล้านบาท หนี้สินที่มีภาระดิกเบี้ย 219,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 147,352 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น ติดลบ 47,297 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 อยู่ที่ 11,765 ล้านบาท 

14May TG01

ปัญหาหนี้สินการบินไทยที่เกิดขึ้น เป็นเพราะที่ผ่านมาการบินไทย ไม่เคยดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ โครงสร้างการกำกับดูแลและการบริหารงานยังขาดประสิทธิภาพ  วัฒนธรรมองค์กรเป็น Silo ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง จึงไม่สามารถแข่งขันได้ การบริหารจัดการอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ภายใต้พ.รงบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ มีอุปสรรคในการสรรหาคณะกรรมการ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่เหมาะสมภายใต้พ.รงบ.คุณสมบัติมาตรฐาน

มติคนร.กับการแก้ปัญหาการบินไทย

แหล่งข่าว กล่าวว่าแนวทางดำเนินการตามมติคนร. เห็นชอบ ในการแก้ปัญหาการบินไทย ที่เสนอเข้าทที่ประชุมมาก่อนหน้านี้ประกอบด้วย

1. ปรับโครงสร้างการถือหุ้นให้การบินไทยหลุดพ้นจากข้อจำกัดการเป็นรัฐวิสาหกิจ

2. แต่งตั้งผู้บริหารและบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง

3. จัดหาสภาพคล่องชั่วคราวระยะสั้น ให้กับการบินไทยในช่วงโควิด-19

4. เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ปัจจุบัน

5. สรรหาพันธมิตรในธุรกิจขนส่งทางอากาศ

6. สรรหาพันธมิตรในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งทางอากาศโดยตรง

7. เพิ่มทุนของการบินไทย ( 8 หมื่นล้านบาท)

8. สรุปรายละเอียดแผนฟื้นฟูระยะยาวของการบินไทย

9. ตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับติดตามการแก้ปัญหาการบินไทย

 ไม่เชื่อฝีมือการบินไทยชี้มีแต่ความเสี่ยง

แหล่งข่าว กล่าวว่าจากมติคนร. กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล เห็นว่าการบินไทยจะไม่สามารถปฎิบัติปฎิบัติตามแผนฟื้นฟูที่เสนอมาได้สำเร็จ เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา การบินไทยไม่เคยปฎิบัติตามแผนฟื้นฟูตามที่การบินไทยเสนอได้สำเร็จ แผนฟื้นฟูการบินไทยที่เสนอมา ระบุปัจจัย เสี่ยงที่จะไม่สามารถ ดำเนินการได้ตามแผนไว้จำนวนมาก โดยอ้างเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ล่าช้า พนักงานไม่ให้ความร่วมมือ

cover 01 3

แผนฟื้นฟูของการบินไทย ไม่มี Action Plan ที่ระบุ (What /Who/When/Why) ไม่มีรายละเอียดแผนสร้างรายได้ แผนบริหารหนี้ แผนรายจ่าย ที่สอดคล้องกับกิจกรรมตามแผนฟื้นฟู แผนฟื้นฟูของการบินไทย มีการประมาณการ รายได้สูงเกิน ความน่าจะเป็นไปได้ ด้วยเหตุที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID -19 ที่จะส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินอยู่ในวิกฤติต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี

พบต้องเพิ่มทุนอีกกว่า 8 หมื่นล้าน

หากการบินไทยไม่สามารถปฎิบัติตามแผนที่เสนอได้สำเร็จ รัฐก็ต้องตัดสินใจอีกว่าจะให้เบิกเงินต่อหรือไม่ หรือตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล ส่วนเงินที่เบิกจ่ายไปแล้ว รัฐก็ต้องรับผิดชอบเต็มจำนวน กรณีที่เบิกเงินไปครบแล้ว และยัง มีการเพิ่มทุนอีก 83,401 ล้านบาท จะกลายเป็นสูญเปล่า

อย่างไรก็ตาม มองว่าองค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่การปฎิรูปบริษัทได้สำเร็จ ประกอบด้วย

1. ปรับโครงสร้างการถือหุ้นให้การบินไทย หลุดพ้นจากข้อจำกัดการเป็นรัฐวิสาหกิจ

2. ปรับโครงสร้างองค์กร ระบบการบริหาร และปรับอัตรากำลังทรัพยากรบุคคลลงกว่า 30%

3. ปรับลดเที่ยวบินให้เหลือเฉพาะที่กำไร ที่เหลือใช้ Code Share +Co-Branding กับ Alliances

4.  ปรับ Fleets เครื่องบินให้เหมาะสม บริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง

5. เพิ่มกกำไรจากธุรกิจ Aviation Business ด้วยการยกเครื่องระบบขายตั๋วเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มรายได้มากกว่า 50%

6. ปรับ ลดต้นทุน Operation and Cost

7. ปรับโครงสร้างบริษัทให้เป็น Holdings และ Spin off Non-Aviation ให้เป็นบริษัทย่อย เพื่อเปิดโอกาสให้พันธมิตรร่วมลงทุน ทำให้ขยายการเติบโต สร้างรายได้ย้อนกลับมากขึ้น

เปิด 2 ทางเลือกสางปัญหาการบินไทย

ทั้งนี้ยังได้มีข้อเสนอของทางเลือกในการแก้ปัญหาการบินไทย ทางเลือกที่ 1 คือดำเนินการตามมติคนร. ประกอบด้วย 1.การลดสัดส่วนรัฐถือหุ้นตรง 2. ค้ำประกันเงินกู้ 54,000 ล้านบาท 3. เบิกจ่ายต่อเมื่อทำตามแผนฟื้นฟูจริง 4. หาพันธมิตรในแต่ละธุรกิจ 5. เพิ่มทุน 80,000 ล้านบาทปลายปี (รายละเอียดตามกราฟฟิก) แต่หากการบินไทยดำเนินการตามแผนฟื้นฟูไม่สำเร็จจะต้องเข้าสู้ขั้นตอนฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล

14May TG option1

ทางเลือกที่ 2 เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลทันที ใช้เวลาดำเนินการอย่างน้อย 12 เดือน ในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู (รายละตามกราฟฟิก)

14May TG option2

ตามข้อเสนอทางเลือกที่ 2 ยังระบุผลลัพธ์

1. ช่วยลดหย่อนหรือแก้ปัญหาสภาพคล่องการบินไทยได้ โดย มีคำสั่งห้ามเจ้าหนี้ไม่ให้บังคับชำระหนี้ (พักหนี้และดอกเบี้ยทั้งหมด) เจ้าหน้าทั้งหมดรวมถึงเจ้าหนี้การค้าด้วย

2. กระทรวงการคลังอาจจะไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้สภาพคล่องเลย จำนวนจะลดลงมาจาก 54,718 ล้านบาท เหลือประมาณ 17,910 ล้านบาท เงินกู้นี้จะมีสิทธิสูงที่สุดที่จะได้รับชำระก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ จึงอาจไม่ต้องค้ำประกัน

3. การปรับโครงสร้างหนี้จะผุกพันกับเจ้าหนี้ทุกราย โครงสร้างแผนฟื้นฟูจำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากเจ้าหนี้เกินครึ่ง

4. แผนปรับโครงสร้างหนี้สามารถ ยกเลิกสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ จัดกลุ่มและประเภทเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้ที่ต่างกันได้ ระบุการแปลงหนี้เป็นทุนได้ ซึ่งจะลดภาระของรัฐในการสนับสนุน

 ข้อสังเกตสำหรับทางเลือกที่ 2

1. รัฐอาจควบคุมกระบวนการฟื้นฟูกิจการและแผนไม่ได้ หากเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบผู้ทำแผนฯตามที่รัฐหรือการบินไทยเสนอ

2. กรรมการและ ผู้ถือหุ้นเดิมจะไม่มีอำนาจ บริหารกิจการในส่วนของการทำแผน

3. กระบวนการอาจจะใช้เวลานาน

4. หากมีทรัพย์สินอยู่ในสหรัฐอเมริกา อาจจำเป็นต้องยื่นต่อศาลในสหรัฐอเมริกา ด้วยเพื่อปกป้องเจ้าหนี้ ไม่ให้บังคับเอาทรัพย์สินในต่างประเทศในช่วงจัดทำแผน

การิบนไทย777 1

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ควรต้องแยกพิจารณาวิธีการแก้ปัญหาออกต่างหาก ประเด็นที่กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าหนี้อยู่ 12,000 ล้านบาท (หนี้จะโดนพักเหมือนเจ้าหนี้อื่นๆ) ประเด็นที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรและระบบสหกรณ์รัฐวิสาหกิจหุ้นกู้จำนวน 74,108 ล้านบาท ของการบินไทย ส่วนใหญ่ถือโดยสหกรณ์รัฐวิสาหกิจอื่น และพนักงานการบินไทยอาจจะเร่งถอนเงินฝากสหกรณ์การบินไทยจำนวน 30,000 ล้านบาท

พบทางเลือกที่ 2 รัฐไม่มีความเสี่ยง

นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบของ 2 ทางเลือก โดยทางเลือกที่ 1 หากดำเนินการตามแผนฟื้นฟู้ของคนร. กู้เงิน 54,718 ล้านบาท ไม่มีใครให้กู้ รัฐบาลจึงต้องค้ำประกัน โดยสิทธิเท่าหนี้อื่นๆภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย ต้องเพิ่มุทนอีก 84,401 ล้านบาท รัฐอาจต้องเป็นผู้สนับสนุนหากหาพันะมิตรไม่ได้ หนี้สินจะมีมากกว่า 250,000 ล้านบาท ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

มูลหนี้จำนวน 250,000 ล้านบาท มาจากประมาณ 150,000 ล้านบาท  เป็นมูลหนี้ทางบัญชีรวมกับมูลหนี้ส่วนสัญญาเช่าเครื่องบิน 30 กว่าลำ โดยสัญญาเช่า 12 ปี อีกกว่า 100,000 ล้านบาท แนวทางนี้รัฐมีความเสี่ยงสูง หากการบินไทยไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน  

ทางเลือกที่ 2 เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลทันที

กู้เงิน 17,910 ล้านบาท อาจจะสามารถกู้ได้เอง รัฐไม่ต้องค้ำประกัน สิทธิเหนือหนี้อื่นๆ ภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย (Senior Debt) การเพิ่มทุนน้อยกว่า 50,000 ล้านบาท เงินกู้สภาพคล่องที่ต้องคืนน้อยลง สามารถแปลงหนี้เป็นทุน มีหนี้น้อยกว่า 250,000 ล้านบาท สามารถลดหักหนี้ภายใต้กระบวนการเจรจา Haircut สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ วิธีนี้รัฐไม่มีความเสี่ยง   

tg 3

นอกจากนี้ ยังมีข้อสรุปเปรียบเทียบของสองทางเลือก โดยทางเลือกที่ 1 การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูตามมติคนร. แผนฟื้นฟูของการบินไทย ต้องกำหนดเงื่อนไข KPI เพื่อเป็นตัวกำหนดการเบิกจ่ายเงินกู้สภาพคล่อง หากดำเนินการ ไม่สำเร็จ ก็จำเป็น ต้องนำเข้าฟื้นฟูตามพ.ร.บ.ล้มละลายอยู่ดี ผู้ดำเนินการ ภายใต้การบริหารปัจจุบันหรือกรรมการและผู้อำนวยการชุดใหม่ที่ผู้ถือหุ้นจะแต่งตั้ง โอกาสสำเร็จน้อย การให้บริการการบิน ยังดำเนินการได้ปกติ

เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล

ทางเลือกที่ 2 เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใค้คำสั่งศาลทันที ทีมงานผู้บริหารแผนเป็นผู้กำกับและควบคุม ส่วนผู้ดำเนินการ จ้างผู้ชำนาญการมาดูแลกิจกรรมแต่ละด้านของบริษัทภายใต้ การกำกับและการควบุคมของผู้บริหารแผน มีโอกาสำเร็จสูงกว่ามาก ขณะที่การให้บริการการบิน ยังดำเนินการได้ปกติ

แหล่งข่าว กล่าวว่าในความเห็นของกระทรวงคมนาคม หลังจากวิเคราะห์แผนฟื้นฟูของการบินไทย และแนวทางแก้ปัญหาตามคนร. เห็นว่าเพื่อไม่ให้เกิดความสี่ยงต่อรัฐและเงินภาษีประชาชน และเพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิดการปฎิรูป ระบบการบริหารของการบินไทยให้มีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง สามารถกลับมามีกำไร และแข่งขันในระดับสามารถได้ จึง เห็นควรเสนอให้การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ภายใต้คำสั่งศาลในทันที หลังจากปรับการถือหุ้นให้เป็นรัฐวิสาหกิจระดับ 3 (รัฐวิสาหกิจประเภทหารายได้) 

Avatar photo