Business

‘โควิด’ ทำอะไรไม่ได้ ! ราช กรุ๊ป ลุยโปรเจค ตั้งฐานผลิตรถไฟฟ้า-โรงซ่อม ในไทย 1 ปีศึกษาเสร็จ

โควิด-19 ทำอะไรไม่ได้ ! ราช กรุ๊ป ลุยโปรเจค ตั้งฐานผลิตรถไฟฟ้า-โรงซ่อม ในไทย 1 ปีศึกษาเสร็จรับระบบราง ปีนี้ลุยฉลุย 20,000 ล้านตามแผน เป้าหมายคงเดิมไปให้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ปี 2566

คุณกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด มหาชน 2

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนระบบราง และขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงมีแนวคิดที่จะตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟและรถไฟฟ้า รวมถึงการซ่อมบำรุงในประเทศไทย

ขณะนี้ศึกษาร่วมกับบริษัท AMR ASIA ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี จากนี้ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น เราเห็นตรงกันว่า ไทยไม่ควรต้องนำเข้า และทางบริษัท AMR ASIA ก็มองว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะผลิตเอง และในส่วนของบริษัทราช จะศึกษาเรื่องการเชื่อมต่อเข้ากับระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ด้านเศรษฐศาสตร์ และการเงิน ในเบื้องต้นเราต้องการทั้งผลิตตู้รถไฟฟ้า พร้อมกับระบบด้วย

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ของบริษัทฯไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายได้รวมเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่จำนวน 4,506.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 442 ล้านบาท จาก 4,043 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงินของโรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ ควบคุมจำนวน 2,925.01 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 64.9%

ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 1,480.64 ล้านบาท และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ จำนวน 101.13 ล้านบาท กำไรก่อนผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน 1,983.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% จากไตรมาสที่ 1 ปี 2562 และเมื่อรับรู้การขาดทุนทางบัญชีอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ มีกำไร 1,360.82 ล้านบาท ลดลง 21.8 %

การรับรู้รายได้ในไตรมาส 1 ของปีนี้ มาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ที่มีการเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ที่จะเริ่มรับรู้รายได้เต็มปี

นายกิจจา ระบุว่า โควิด-19 ไม่มีอะไรกระทบกับบริษัทฯ เพราะไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่จำเป็นในทุกกิจกรรม การใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) กิจการไฟฟ้านับว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนการทำงานที่บ้าน และโลกออนไลน์ บริษัทฯ จึงไม่มีการปรับลดเป้าหมายการลงทุน ยังคงเป็น 20,000 ล้านบาท

โดย 10,000 ล้านบาทมีโครงการเรียบร้อยแล้ว เดินหน้าลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2563 ไปแล้ว 2,055 ล้านบาท และในครึ่งหลังคาดว่าจะใช้เงินตามแผน 2 โครงการหลัก ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังานลมคอลเลคเตอร์ ออสเตรเลีย เงินลงทุน 1,858 ล้านบาท ซึ่งผลจากโควิดทำให้ล่าช้าไป 6 สัปดาห์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียล อินโดนิเซีย เงินลงทุน 197 ล้านบาทล่าช้าไป 1 เดือน

อีก 10,000 ล้านบาท เป็นโครงการใหม่ ซึ่ง 3 เดือนแรก เรามี 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี้ ระยอง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 92 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 4,409.6 ล้านบาท จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 2565 และโครงการโรงไฟฟ้า REN ระบบโคเจเนอเรชั่น จังหวัดนครราชสีมา ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 2566

อีก 9 เดือนหลังของปีนี้ คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย  3 โครงการ หรือปีนี้ทั้งปีน่าจะเดินหน้าโครงการได้ไม่น้อยกว่า 5 โครงการ เป้าหมายเราจะเน้นเดินหน้าธุรกิจไฟฟ้าฟอสซิลและพลังงานลม ในประเทศอาเซียน เช่น อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ พลังน้ำ ในสปป.ลาว พลังงานลมใน เวียดนาม ซึ่งมีศักยภาพ เพราะรัฐบาล ประกาศจะสนับสนุนให้เกิดถึง 6,000 เมกะวัตต์

สำหรับโครงการสำคัญในไทย บริษัทฯมีเป้าหมายจะเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการรอกฎกติกา การเปิดเสรีของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในภาคใต้ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล แต่จะไม่เข้าในล็อตควิกวิน เพราะของบริษัทฯเป็นโครงการใหม่

คุณกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด มหาชน 3

” ในระหว่างเกิดโควิด-19 แพร่ระบาด เราไม่ได้หยุด ยังเจรจา แต่ใช้วิธีเจรจาทางไกล และดีลกันตลอดเวลา รอให้สถานการณ์คลี่คลาย มีการเปิดประเทศ เราจะได้มีการลงนามกันต่อไป “

ที่สำคัญเรามีฐานะการเงินแข็งแกร่ง จึงเดินหน้าเจรจาโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 103,448.31 ล้านบาท หนี้สินจำนวน 44,440.97 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 59,007.34 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.46 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (DSCR) 7.73 เท่า และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น 10.66%

นายกิจจา ระบุว่า เป้าหมายของเรา ยังคงเดิมที่จะทำให้มีกำลังผลิตในมือเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้า จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น

นายกิจจา ย้ำว่า วิกฤติโควิด-19 บริษัทฯ มองเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส จึงได้เพิ่มน้ำหนักในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากโรคระบาด รวมทั้งการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคม

“สำหรับโอกาสนั้น เรามองเห็นศักยภาพในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ธุรกิจสีเขียว โครงการ Independent Power Supply (IPS) เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การต่อยอดธุรกิจจากโครงข่าย IoT เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจและผู้บริโภค การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเรายังได้ลงทุนพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีปกติใหม่ของธุรกิจ และสังคมร่วมกับกลุ่ม กฟผ.”

ในส่วนของบริษัทฯเองก็เข้าสู่ New Normal เช่นกัน เพื่อให้เกิดการรักษาระยะห่างทางสังคม ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสนับสนุนการทำงานทางไกล ยกระดับศักยภาพขององค์กร เพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้เป็น Smart Workplace ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงานเชื่อมต่อกันภายใน และซัพพลายเชน นำระบบแอพพลิเคชั่น ที่รองรับการทำงานของพนักงานแต่ละวัย

สิ่งที่ตามมาคือรูปแบบการทำงานแบบบุคคลที่เปลี่ยนไปสู่การทำงานเป็นทีมดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ทั้งยังลดการใช้ทรัพยากรและต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้วย

renewable e1589456301653

ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทฯ มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักในประเทศที่เดินเครื่องผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว รวม 5,040.60 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีก 783.07 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน ที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 74.73 เมกะวัตต์

related biz

ส่วนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก พลังงานทดแทน รวมทั้ง การลงทุนหลักทรัพย์ของ EDL-Generation Public Company ในตลาดหลักทรัพย์ สปป. ลาว รวมกำลังการผลิต ตามการถือหุ้น 2,801.76 เมกะวัตต์

 

 

Avatar photo