Business

‘อรรถพล’ เปิดวิสัยทัศน์ CEO ปตท. คนที่ 10 ดึงกลยุทธ์ ‘4R’ สู้วิกฤติ โควิด-19

“อรรถพล” เปิดวิสัยทัศน์ CEO ปตท. คนที่ 10 ประกาศ! เดินหน้าลงทุนปีนี้ 1.4 แสนล้าน มั่นใจศักยภาพการลงทุน 5 ปี 1.5 ล้านล้าน ดึงแผน 4R สู้วิกฤติ “โควิด-19” ประเดิมตำแหน่งวันแรก ดอดรายงานตัว “สนธิรัตน์” รับมอบการบ้าน เพิ่มสต็อกบี 100 ช่วยดึงราคาปาล์ม

208476

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รับมอบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ปตท. คนที่ 10 ต่อจากนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร โดยเขาได้ประกาศวิสัยทัศน์กับพนักงานปตท.ในวันแรกของการรับตำแหน่ง ระบุว่า จะสานต่อนโยบายดูแลความมั่นคงทางพลังงาน และสร้างความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วน

โดยดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการบริหารงาน Powering Thailand’s Transformation เพื่อให้ปตท.เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศ ให้ก้าวหน้าผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทย

สำหรับกลยุทธ์ที่จะทำให้บรรลุแนวคิดดังกล่าว เขา บอกว่า จะเน้นการต่อยอด และเพิ่มเติม ด้วยการเปิดการ กว้างทางความคิด ปรับให้ปตท.ตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภค และความคาดหวังต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้กลยุทธ์ PTT by PTT ประกอบด้วย

-Partnership & Platform สร้างพันธมิตร และพัฒนาธุรกิจของปตท.ให้มีแพลตฟอร์ม มากกว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือจำหน่ายสินค้า โดยปตท.จะดึงดูดพันธมิตร ที่มี Know-how จากต่างประเทศ และร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอี ร่วมกันสร้าง New Business Model และ New Ecosystem

-Technology ใช้เทคโนโลยีในทุกมิติ ของกระบวนการดำเนินงาน ผสมผสาน ด้วย Know-how นวัตกรรม และดิจิทัล จากทั้งภายในและภายนอกองค์กร สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม

-Transparency & Sustainability สร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับการพัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้นปตท.ได้มีการจัดตั้ง PTT Group Vital Center เพื่อดูแลบริหารจัดการในช่วงนี้ และวางแผนไปข้างหน้า โดยการบริหารจัดการของปตท.ดำเนินงานภายใต้ แผน 4R ประกอบด้วย

-Resilience การสร้างความยืดหยุ่น และการปรับตัว ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ,สร้างความปล่อยภัยให้กับพนักงาน ,ประเมินสุขภาพองค์กร โดยการจัดทำ Stress tests ,ลดค่าใช้จ่าย ที่ไม่จำเป็น ,จัดความสำคัญของโครงการลงทุน ,จัดทำ Group Optimization ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลาย และการรักษาสภาพคล่องขององค์กร

-Restart เตรียมความพร้อมการดำเนินธุรกิจ นำพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า กลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด และรักษาความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มให้ได้

-Reimagination ออกแบบธุรกิจ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Next Normal ทั้งในด้านธุรกิจต้นน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงธุรกิจใหม่ (New S-curve)

-Reform อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยจัดโครงสร้างองค์กร หรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น

” การมารับตำแหน่ง ปตท.นั้นเป็นช่วง ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พอดี ซึ่งต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า จีดีพี ของโลกจะติดลบถึง 3 % ขณะที่ประเทศไทยจีดีพี จะติดลบ 6.6% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณการณ์ จีดีพี ของประเทศจะติดลบ 5.3% ” 

อย่างไรก็ตาม นอกจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 แล้วกลุ่มปตท.ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2563 ออกมาขาดทุน และคาดว่าไตรมาส 2 ปี 2563 จะยังได้รับผล กระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ แต่คาดว่าผลประกอบการ จะกลับมาปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3-4 และมั่นใจว่าผลการดำเนินงานทั้งปี 2563 จะเป็นบวก

นอกจากนี้ยืนยันว่ากลุ่มปตท.ยังมีศักยภาพ ในการลงทุนที่แข็งแกร่ง โดยในปี 2563 กลุ่มปตท.ยังมีความสามารถในการลงทุนทั้งปี ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ส่วนแผนลงทุน 5 ปี (2563-2567) ก็ยังมีศักยภาพในการลงทุนประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทตามแผน

“ผมมีความมุ่งหวัง ที่จะทำให้กลุ่มปตท.เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย และเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทย ให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมทุภาคส่วน มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ตามแนวคิด PTT Powering Thailand’s Transformation ” 

โดยวันนี้ (13 พ.ค.) นายอรรถพล ได้เข้าพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะมาทำงานวันแรก โดยนายสนธิรัตน์ ระบุว่า ได้แสดงความยินดีกับ CEO คนใหม่ ที่มาทำงานวันแรก และให้กำลังใจ เพราะมารับหน้าที่เต็มตัว ในภาวะที่ปตท.และบริษัทในเครือ ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาผลประกอบการ และหลายธุรกิจก็กระทบมาก เช่น ธุรกิจน้ำมัน

จึงอยากให้แก้วิกฤติผลกระทบโควิด พาบริษัทกลับไปสู่ภาวะปกติ และเติบโตต่อไป ซึ่งเวลาอย่างนี้ ใครเป็นผู้บริหารที่ไหน ก็ต้องทุ่มเท และใช้พลังมาก จึงให้กำลังใจท่านให้มีพลัง และให้ทุ่มเท

“กู้วิกฤติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกระทบรุนแรงมาก ต้องหาทางแก้ปัญหา ท่านก็ทราบอยู่แล้ว เราก็คุยกันว่าอะไรที่กระทรวงสนับสนุนได้ ก็พร้อมร่วมทำงาน “

นอกจากนี้นายสนธิรัตน์ ยังฝากการบ้านให้นายอรรถพล ช่วยรับซื้อไบโอดีเซลบี 100 ไปสต็อกเพิ่มเติม เพื่อดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ทำให้ผลปาล์มสดราคาดีขึ้น

Avatar photo