Digital Economy

เปิดอาณาจักร LINE สู่รถด่วนขบวน A.I.

Project line4 1นับตั้งแต่เปิดศักราช 2561 เป็นต้นมา หนึ่งในแบรนด์ที่ฮอตที่สุดใน พ.ศ. นี้ของไทยเชื่อว่าต้องมีชื่อของ “ไลน์” (LINE) ปรากฏอยู่ด้วยเป็นแน่ โดยที่ผ่านมา เราได้เห็นไลน์รุกจับมือกับธุรกิจต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และกระจายไปทั่วทุกอุตสาหกรรมที่กำลังถูกจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นวงการสื่อ ธุรกิจคมนาคมขนส่ง รวมถึงธุรกิจเพย์เมนต์ที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้

สำหรับประเทศไทยนั้น ไลน์เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2557 ก่อนที่ในปี 2558 จะมีกรรมการผู้จัดการที่เป็นคนไทยคนแรกอย่างคุณอริยะ พนมยงค์ อดีตผู้บริหารของกูเกิล (Google) เข้ามารับหน้าที่กุมบังเหียน โดยปัจจุบันไลน์มีผู้ใช้งานอยู่ที่ 41 ล้านคน จากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งประเทศ 44 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก และจุดเด่นสำคัญก็คือ ไลน์มีผู้ใช้งานหลากหลายกลุ่มมากเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเบบี้บูม

ส่วนในระดับโลกก็ต้องบอกว่า การเติบโตของไลน์นั้นไม่ธรรมดาเช่นกัน โดยในปี 2557 ไลน์มีผู้เข้าใช้บริการเป็นประจำทุกเดือน (MAU) ทั้งสิ้น 113 ล้านราย ขณะที่ปี 2560 ไลน์มีผู้ใช้เข้างานเป็นประจำทุกเดือนเพิ่มเป็น 168 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ใช้งานในประเทศญี่ปุ่น 73 ล้านราย และมาจากไต้หวัน ไทย อินโดนีเซียอีก 95 ล้านราย ส่วนตัวเลขผู้ใช้งานล่าสุดตามการเปิดเผยของไลน์อยู่ที่ 200 ล้านราย

ในส่วนของผลประกอบการของไลน์ถือว่าเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จาก 86.4 พันล้านเยนในปี 2557 กลายเป็น 167.1 พันล้านเยนในปี 2560 หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 48,949 ล้านบาท แถมยังเติบโตในทุกหมวด ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา, บริการแชท, คอนเทนต์ และหมวดรายได้อื่น ๆ โดยธุรกิจที่ครองส่วนแบ่งรายได้สูงสุดคือ “โฆษณา” ที่เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 39.9% คิดเป็นมูลค่า 76.5 พันล้านเยน หรือประมาณ 22,445 ล้านบาท ตามมาด้วยธุรกิจคอนเทนต์ที่ 40.1 พันล้านเยน ธุรกิจด้านคอมมูนิเคชัน 30.2 พันล้านเยน และธุรกิจอื่น ๆ อีก 20.2 พันล้านเยน

อย่างไรก็ดี เป้าหมายของไลน์นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมากลับไม่ใช่การเพิ่มยอดผู้ใช้งานอย่างก้าวกระโดดอีกต่อไป แต่เป็นการทำอย่างไรให้ผู้ใช้งานอยู่กับแพลตฟอร์มของไลน์ให้ยาวนานที่สุด นั่นจึงนำไปสู่การจับมือกับพันธมิตรมากหน้าหลายตา และ “หลายวงการ” ยกตัวอย่างเช่น การประกาศเปิดตัวเป็น Official Partner รายแรกของเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้บริการ LINE TAXI, การประกาศร่วมทุนกับแอดวานซ์ เอมเปย์ (mPay) บริษัทลูกของเอไอเอส เพื่อร่วมลงทุนใน Rabbit LINE Pay (RLP) และตั้งเป้าผลักดันให้ Rabbit LINE Pay เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินทางมือถืออันดับ 1 ของไทยภายใน 3 ปี หรือการจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์จำนวนมากของไทย เช่น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, ช่องวัน31, สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ฯลฯ

aaaการดึงให้ผู้ใช้งานอยู่กับแพลตฟอร์มไลน์ให้นานที่สุดยังนำมาซึ่งข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ไลน์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมาก โดยหากพิจารณาจากแผนกลยุทธ์ปี 2561 ของไลน์ในระดับโลกแล้ว จะพบว่าอนาคตของไลน์นั้นพุ่งประเด็นไปที่ 3 ธุรกิจ ได้แก่ โฆษณา, ฟินเทค และปัญญาประดิษฐ์ (A.I.)

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่สุดอาจเป็นในส่วนของปัญญาประดิษฐ์ เมื่อทางค่าย Naver ได้มีการจับมือกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง (the Hong Kong University of Science & Technology หรือ HKUST) ในฐานะหนึ่งในมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพื่อตั้งศูนย์วิจัยด้าน A.I. แล้วอย่างเป็นทางการ และมีกำหนดเปิดตัวในวันที่ 12 เมษายนนี้

สาเหตุที่ไลน์ให้ความสำคัญกับ A.I. และมีการตั้งศูนย์ดังกล่าวเพิ่มเติมในฮ่องกงจากเดิมที่มีอยู่ในญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และฝรั่งเศสนั้น เนื่องจากสองปัจจัยสำคัญ หนึ่งคือ A.I. จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทุกอย่างในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ IoT, ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ฯลฯ ซึ่งบริษัทที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมด้าน A.I. แต่เนิ่น ๆ มีสิทธิล้มหายตายจากได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้เลยทีเดียว

ปัจจัยที่สองคือ การแก่งแย่งนักวิจัยด้าน A.I. ที่พุ่งสูงในขณะนี้ และเกาะฮ่องกงถือเป็นชัยภูมิสำคัญที่ไลน์สามารถดึงนักวิจัยด้าน A.I. จากจีนแผ่นดินใหญ่ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาร่วมงานด้วย ซึ่งจะทำให้ไลน์มีความแข็งแกร่งในทรัพยากรบุคคลด้าน A.I. มากขึ้นนั่นเอง

จากความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ทำให้เห็นได้ว่า ในเบื้องหน้าของธุรกิจ แม้จะมีการจับมือของไลน์กับพาร์ทเนอร์แบรนด์ต่าง ๆ มากมาย แต่เบื้องหลังแล้ว ไลน์มีการเตรียมซื้อตั๋วรถไฟสาย A.I. เอาไว้เรียบร้อย และการเดินทางไปกับรถไฟขบวนนี้ อาจถือได้ว่าเป็นภารกิจหลักของไลน์และหลาย ๆ องค์กรในยุค  Digital Disruption เลยก็ว่าได้

Avatar photo