COVID-19

เข้าใจให้ตรงกัน ‘ตู้ปันสุข’ กับภารกิจ ‘จัดระเบียบ’ ขจัดความโลภ (จบ)

“กาลครั้งหนึ่งนานมา ชาวนาผู้ยากจน ได้พบห่านตัวหนึ่งในป่า จึงนำกลับมาที่บ้าน หลังจากนั้น แม่ห่านตัวนี้ ก็ออกไข่เป็นทองคำทุกวัน วันละ1ฟอง ชาวนาเจ้าของบ้านนำไข่ทองคำนั้นไปขาย ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัวทุกวัน ทำให้อยู่สุขสบายขึ้น

วันหนึ่ง ชาวนาเกิดคิดว่า แม่ห่านออกไข่ทองคำทุกวัน ในท้องแม่ห่านต้องมีไข่ทองคำเยอะมากแน่ๆ

จัดระเบียบ1

ด้วยความโลภ อยากได้ไข่ทั้งหมดไว้ในคราวเดียว ชาวนาจึงฆ่าแม่ห่าน เพียงเพื่อหวังไข่ทองคำในท้อง แต่แล้วก็ไม่พบไข่ทองคำแม้แต่ฟองเดียว

หลังจากแม่ห่านตายไป ชาวนาก็ไม่มีไข่ทองคำอีกต่อไปต้องกลับไปใช้ชีวิตลำบากเหมือนที่ผ่านมา”

นิทานเรื่องนี้ กลุ่มอิฐน้อย หยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตู้ปันสุขในวันนี้ที่มีกระจายไปครบแล้ว 77 จังหวัด จำนวน 618 ตู้ (ข้อมูล ณ 12 พฤษภาคม 2563) ไม่ว่าจะเป็นการโกยของในตู้โดยไม่เผื่อแผ่, การด่าทอผู้ตั้งตู้ว่าไม่มีของในตู้ การแย่งชิงของในตู้ จนเกิดคำถามว่า เมื่อยังมีคนไม่รู้จักพอ โลภโมโทสัน และเห็นแก่ตัวไม่รู้จักแบ่งปันเช่นนี้ จะจัดการอย่างไร

ยกตัวอย่างกรณีจังหวัดนครสวรรค์ ที่แรกเริ่มมีการตั้งตู้ปันสุข โดยใช้ชื่อ “ตู้พาสุข” ที่หน้าห้างแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์ ซึ่งเป็นทำเลย่านใจกลางเมือง แล้วเกิดภาพคนกรูเข้าไปแย่งของในตู้ จนสร้างความน่าอดสูละอายใจ ว่อนโลกโซเชียล

นครสวรรค์1

ผู้จัดทำตู้พาสุข ได้แก้ปัญหาด้วยการย้ายตู้จากหน้าห้างแฟรี่แลนด์ มาไว้ที่หน้าศูนย์ดับเพลิง ริมหนองสมบูรณ์ เพื่อให้พนักงานดับเพลิงช่วยจัดระเบียบให้สามารถรับของได้เรียบร้อยและทั่วถึงมากขึ้น

กรณีของจังหวัดนครสวรรค์ “วีระยุทธ เชื้อไทย” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เนื้อความว่า

“ตู้ปันสุขไม่ได้ทำหน้าที่แค่มอบสิ่งของให้ แต่กำลังทำหน้าที่ขัดเกลาจิตใจให้ผู้คนในสังคม”

ก่อนอื่นต้องขอกราบหัวใจความดีงามของผู้จัดทำ #ตู้พาสุข หน้าห้างแฟรี่ นครสวรรค์ ก่อนที่ไม่ยอมแพ้ จัดการแก้ปัญหาการแย่งชิงข้าวของในตู้ โดยย้ายตู้จากที่เดิม ไปหน้าดับเพลิง และพี่ ๆ ดับเพลิงช่วยจัดระเบียบ

นครสวรรค๋

บทพิสูจน์นี้ ทำให้เห็นพลังแห่งความดี จิตแห่งผู้ให้ที่มีมากมายทั่วแผ่นดินได้ชนะ รอยด่างที่คนทุกข์ยากไร้ระเบียบได้สาดทิ้งไว้ในใจ เป็นจุดด่างเล็ก ๆ ที่หลายคนวิจารณ์ก่นด่า ซ้ำรอยด่างเดิมในใจผู้ให้ ให้ขยายวงกว้าง จนรู้สึกท้อในการทำความดีครั้งนี้

ตลอดสามสี่วันนี้ผมเฝ้าดู ข่าวเรื่องตู้ปันสุข ทั้งบวก คือการเกิดขึ้นทั่วประเทศมากมายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ยิ่งกว่าการขยายสาขาของร้านสะดวกซื้อ ผมติดตามเฝ้าดูข่าวลบ การแย่งชิง การกอบโกยของผู้รับไร้ระเบียบ และสะท้อนความคิดในทุกโพสที่มีข่าวแย่งชิงว่า

นี่คือ จุดด่างที่คนเลวเพียงไม่กี่คน สาดเข้าไปในใจของคนทั่วประเทศจนลืมคิดถึงความดีงามของคนดี คนที่มีจิตเป็นผู้ให้ เอาจริง ๆ ก็มีข่าวลบเกิดขึ้น เพียงแค่ สอง ถึง สามตู้ จากทั้งหมดมีมากกว่า 250 ตู้ทั่วประเทศ จุดด่างนี้ขยายตัวมืดดำครอบคลุมหัวใจ ผู้ให้ได้จากเสียงด่า เสียงวิจารณ์ มากเสียยิ่งกว่าผู้ก่อเหตุ

นครสวรรค์

อย่ายอมให้จุดด่างจากคนเลวเพียงไม่กี่คน มาทำลายความตั้งใจดี มาทำลายจิตแห่งการเป็นผู้ให้ มาทำลายสังคมไทยที่เอื้ออารีย์ของพวกเราเลย เพียงแค่เราปรับจิตร่วมกันรักษาความดี พึงเอาชนะความชั่วด้วยการแก้ไข ไม่ใช่ยอมแพ้ด้วยการล้มเลิก

#กราบขอบคุณชาวนครสวรรค์ที่ส่งบทเรียนนี้สู่สังคม การไม่ล้มเลิกตู้พาสุข หลังจากถูกรุมแย่งข้าวของ ด้วยการย้ายตู้ไปสู่การดูแลกันและกันโดยพี่ ๆ ดับเพลิง คือ การรักษาจิตแห่งการให้ของตัวเอง และการให้บทเรียนจิตสำนึกที่ดี แก่ผู้รับที่ยังขาดเรื่องจิตสำนึก

“ตู้พาสุข ของนครสวรรค์จึงกลายเป็น ตู้ที่ทำหน้าที่สมบูรณ์ในการขัดเกลาจิตใจของทั้งผู้ให้ ที่เอาชนะร่อยด่างวิจารณ์ของสังคม และขัดเกลาจิตสำนึกของผู้รับอย่างแท้จริง”

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของ ตู้ปันสุข สุขุมวิท 71 ด้านหน้าร้านประจักษ์เบเกอรี่ ที่มีคนหลั่งไหลมามากจนไม่เป็นระเบียบ ทีมอิฐน้อย แก้ปัญหาด้วยการกั้นแถวชัดเจน ทำเส้นต่างๆ มีการแสดงความเข้าใจ ให้เข้าได้ช่องทางเดียว ต้องเว้นระยะห่าง อยู่หน้าตู้ได้ทีละ 1 คน โดยจัดแถวเป็นตัวยู เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าใครกำลังใส่เติม ซึ่งเป็นโอกาสดีที่สามารถขอบคุณคนให้ได้เลย ได้เห็นคนที่ต่อแถวเพราะเดือดร้อนเหมือนกัน เพื่อจะหยิบของกันไปแต่พอดี

ประจักษ์

อีกกรณีที่สวนทางกับเคสข้างบนคือ ตู้ปันสุข ที่ชุมชนบางคอแหลม ที่เจอกับปรากฏการณ์ของล้นตู้ เพราะมีผู้ให้มากเกินพอดี ไม่เป็นระเบียบ ยัดของใส่ตู้จนล้น กรณีนี้ มีวิธีจัดการเริ่มจากการปิดตู้ก่อนชั่วคราว เพื่อทำการสื่อสารใหม่ ให้เข้าใจหลักการ ก่อนที่จะเริ่มทำการใหม่

หลักการที่ว่าก็คือ ตู้ปันสุขไม่ใช่โรงทาน การให้นั้นควรเป็นของส่วนเกินนิดหน่อยเพื่อแบ่งปันกันในชุมชน ไม่ใช่การซื้อมามากมายเพื่อระดมแจกอย่างโรงทาน

ทำไมถึงขอให้ใส่ของให้พอดี ก็เพราะกังวลกับการที่จะมีคนหาประโยชน์จากน้ำใจของผู้ให้ เพราะต้องยอมรับว่าในสังคมไทย ยังมีกลุ่มคนที่จะโกยไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ที่ไม่ใช่หลักการพอเพียงในแต่ละมื้อแต่ละวัน

นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ ชาวบ้านในชุมชนอาจได้รับความเดือดร้อนจากการไม่ทำตามหลักการที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการเกิดความวุ่นวาย และช่วงโควิด-19 ที่ต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด ไม่ควรทำให้เกิดการอยู่รวมกันของคนจำนวนมาก เพราะเป้าหมายของ ตู้ปันสุข คือการสร้างการแบ่งปันในชุมชน โดยไม่เบียดเบียนชุมชน

ตู้ 1

 

หลักการสำคัญของตู้ปันสุข คือการเป็นสื่อกลางในชุมชน ผู้ให้ อยู่ในชุมชน สามารถมาให้ได้บ่อยๆ ให้ทีละน้อย เพราะคนเรากินแค่วันละ3 มื้อ ขณะที่ผู้รับ อยู่ในชุมชน หยิบไปทีละน้อย เพราะมาหยิบได้บ่อยๆ จึงเป็นการขับเคลื่อนในชุมชน โดยคนในชุมชน เจอหน้ากัน ยิ้มทักทาย ขอบคุณกัน ไม่เจอหน้ากัน เขียนขอบคุณ เขียนให้กำลังใจกัน เป็นความงดงามในชุมชน

ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนของ ตู้ปันสุขวันนี้ จึงอยู่ที่การจัดระเบียบให้เกิดความเรียบร้อย เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการ ที่มุ่ง แบ่งปัน ไม่ใช่ เบียดเบียน

มาข่วยกันรักษาความงดงามของน้ำใจคนไทยให้หล่อเลี้ยงสังคมไทยในยามวิกฤติ เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นไปด้วยกัน และจะทำให้ได้รู้ว่า ไม่ว่าวิกฤติจะหนักหนาแค่ไหน หากคนไทยยังพร้อมช่วยเหลือ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว ให้หนักแค่ไหน เราก็จะผ่านมันไปได้แน่นอน

Avatar photo