COVID-19

ไทย ‘ถอดบทเรียน’ ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ‘มาเร็ว-รักษาเร็ว-หายเร็ว’

ถอดบทเรียน ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สรุปมาเร็ว-รักษาเร็ว-หายเร็ว เตรียมถ่ายทอดองค์ความรู้-จับมือบริหารทรัพยากรร่วมกัน พร้อมขยายเตียง และหอผู้ป่วยวิกฤติ หากพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก

11พค.63 ณรงค์อนุพงศ์ แถลงข่าว 5 1
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช

ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ว่า

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ประสานความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน สถาบันการแพทย์สังกัดกระทรวงกลาโหม ราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ตรวจคัดกรองตามเกณฑ์เฝ้าระวังและสอบสวนโรค ที่ผ่านมาได้ดูแลผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาล ปัจจุบันยังนอนรักษาเพียง 12 ราย

จากความร่วมมือที่เกิดขึ้น ทำให้จำนวนเตียงในกรุงเทพ และปริมณฑล มีอยู่ถึง 2,263 เตียง เป็นเตียงผู้ป่วยวิกฤติ หรือ ไอซียู 147 เตียง เป็นของรัฐ 72 เตียง เอกชน 75 เตียง รองรับการระบาดในระยะที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือของประชาชนอย่างเข้มงวด

90368216 626007854625352 7040402741989998592 o

โดยพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ที่อาจมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ต่อไป และเป็นที่น่ายินดีว่า ไม่พบบุคลากรติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 แล้ว

โรงพยาบาลราชวิถี หนึ่งในรพ.ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไม่น้อย ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ เล่าว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้ารับการรักษาอยู่ที่ 69 ราย รักษาหาย 64 ราย คิดเป็น 92.75% ทำให้ได้ประสบการณ์การรักษา

โดยผู้ป่วยรายแรกของโรงพยาบาลราชวิถี อายุ 31 ปี เข้ามารับการรักษาเร็ว ได้รับยาฟาวิพิลาเวียร์ เพียง 3 วันพบว่าหายป่วย กรณีนี้สรุปได้ว่า อายุน้อย มารับการรักษาเร็วโอกาสหายสูง

ตัวอย่างที่สอง เป็นผู้ป่วยชายอายุ 55 ปี ไม่มีโรคประจำตัว มีอาการไข้ถึง 13 วัน จึงมารักษา อีก 4 วันต่อมาเสียชีวิต ทำให้เห็นว่าอายุมาก แม้ไม่มีโรคประจำตัว หากเข้ารับการรักษาช้าเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

ส่วนตัวอย่างที่สาม เป็นเพศหญิงอายุ 57 ปี ติดเชื้อจากบุตรสาว 4 วันแรกที่เข้าโรงพยาบาลไม่มีอาการ ในวันที่ 5 เริ่มมีไข้ ปอดอักเสบ ได้รับการรักษาเร็วด้วยยาฟาวิพิลาเวียร์ ต่อมาหายป่วย บทเรียนการรักษาโควิด 19 ทำให้เห็นว่า ยาฟาวิพิลาเวียร์ช่วยในการรักษาปอดอักเสบได้ และเมื่อมีอาการป่วยต้องรีบเข้ารับการรักษาจึงจะมีโอกาสหายสูง

ขณะที่สถาบันโรคทรวงอก พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรมปอด กล่าวว่า สถาบันโรคทรวงอกให้ความสำคัญ การป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ จึงเริ่มต้นการแยก พื้นที่การตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด 19 การจัดหอพักผู้ป่วยความดันลบ โดยนำความรู้จากการรักษาผู้ป่วยวัณโรคมาประยุกต์ใช้ ทำให้รับมือการรักษาได้เป็นอย่างดี และมีสิ่งที่เราพบจากการรักษาผู้ป่วยหลายประการ เช่น การให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ ลดการอักเสบของปอดในผู้ป่วยบางราย เป็นต้น

IMG 20200510 073339

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เสริมถึงสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ ว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันนี้ (11 พ.ค.) 6 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ที่จังหวัดนราธิวาส 1 ราย  ไปในสถานที่ชุมชนในจังหวัดภูเก็ต 1 ราย และประกอบอาชีพเสี่ยง, ทำงานในสถานที่แออัด พบที่จังหวัดภูเก็ต 3 ราย เป็นตำรวจ, พนักงานบริษัท, พนักงานขายของ รวมถึงค้นพบจากการค้นหาเชิงรุก (Active Case Finding) ที่จังหวัดยะลา 1 ราย

จากข้อมูลรายงานวันนี้ ชี้ให้เห็นว่า ยังมีผู้ติดเชื้อกระจายตัวอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ เช่น ภูเก็ต ยะลา นราธิวาส รวมถึงมีการติดเชื้อภายในครอบครัว ดังนั้นจึงควรวางแผนการเดินทาง ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น

หากจำเป็นต้องไปจับจ่ายซื้อของ ควรจดรายการที่ต้องซื้อไว้ล่วงหน้า เนื่องจากการออกนอกบ้านแต่ละครั้ง หรือไปในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้

กรมการแพทย์ และกรมควบคุมโรค รณรงค์ให้ประชาชน “การ์ดอย่าตก” ในเรื่องการเข้มมาตรการป้องกันตนเอง 8 ประการ ดังต่อไปนี้

1. สวมใส่หน้ากากอนามัย/ หน้ากากผ้า

2. ล้างมือบ่อยๆ

3. เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร

4. หลีกเลี่ยง หรือไม่เข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด ที่มีคนรวมกันจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยง ที่จะเกิดผู้สัมผัสเชื้อรายใหม่

5. เมื่อกลับถึงบ้านต้องรีบล้างมือ อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย ก่อนที่จะสัมผัสกับคนในบ้าน

6. กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว

7. เมื่อป่วยต้องใส่หน้ากากอนามัย และแยกตัวออกจากผู้อื่น

8. หากมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อย จมูกไม่สามารถรับรู้กลิ่น ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง เพื่อตรวจวินิจฉัยรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัว คนที่รัก และผู้ใกล้ชิด

 

 

Avatar photo