Business

โควิดฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ‘ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์’ อยู่ที่ 32.1

หอการค้าเผย ดัชนีเชื่อมั่นเดือนเม.ย. เซ่นพิษโควิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ “การบริโภค- ลงทุน-ท่องเที่ยว”ร่วงหนัก จี้รัฐคลายล็อกดาวน์-ผ่อนปรนกิจการ ห่วงไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ระดับ 32.1 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการสำรวจเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 หรือต่ำสุดรอบ 28 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทุกภาค

โดยปัจจัยลบยังคงเป็นเรื่องของการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่อย่างต่อเนื่อง การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด การประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และการสั่งปิดกิจกรรมบางประเภท ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่อาจส่งผลกระทบกับภาคการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของประชาชน ปัญหาการว่างงานจากการประกาศปิดธุรกิจในบางประเภทที่ไม่สามารถแบกรับปัญหาของเศรษฐกิจในปัจจุบัน

หอการค้า

โดยดัชนีเชื่อมั่นที่ต่ำลง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กับดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ได้รับผลกระทบจากปิดกิจการ โดยเฉพาะภาคใต้ที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวหนัก ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ราคาพืชทางการเกษตรที่ลดลงทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน จนทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดต่ำกว่าระดับ 30 เป็นครั้งแรก

ศูนย์พยากรณ์ฯ ประเมินว่าผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ว่างงานถูกเลิกจ้างประมาณ 3 ล้านคน ต่ำกว่าที่คณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินไว้ที่ 7 ล้านคน เนื่องจากรัฐบาลควบคุมการระบาดไวรัสได้ดี ส่งผลให้ภาคธุรกิจเริ่มดำเนินกิจการและมีรายได้เสริมสภาพคล่องได้ทันเวลา

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ คือ การผ่อนปรนการเปิดกิจการ เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 ยังถือว่าการจ่ายเงินยังช้ามาก  เทียบกับประเทศอื่นที่จ่ายเงินเยียวยาหมดทุกครัวเรือนหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบชัดเจน  ต่างจากไทยที่ยังมีการคัดกรอง ส่งผลให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับเงิน

ธนวรรธ44 1

 นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ตามหลักวิชาการการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อต้องติดลบ 6 เดือนติด แต่ปัจจุบันติดลบไป 2 เดือนแล้ว   มีโอกาสที่จะติดลบต่อเนื่อง จนทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ปีนี้ เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ จากผลกระทบการปิดธุรกิจทำให้มีการเลิกจ้าง แต่สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก มั่นใจว่า ปีหน้าภาวะดังกล่าวจะหายไปเนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในทิศทางทางที่ดี

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight