COVID-19

น่าอายที่สุด! อดีตเลขาสปส. โต้กลับ ‘หม่อมเต่า’ บริหารไม่ดีเอง จ่ายเงินทดแทนว่างงานช้า

วันนี้ (10 พ.ค.) นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาบอกว่า การจ่ายเงินทดแทนผู้ว่างงานมากกว่า 1 ล้านคน ที่มีความล่าช้านั้น มีสาเหตุจากระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส. ที่เคยมีปัญหาการฟ้องร้อง และเรียกชดใช้เงิน 560 ล้านบาท

bbm

นายไพโรจน์ ระบุว่า ท่าทีดังกล่าวถือว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสปส.โยนความผิดไปให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างน่าละอายที่สุด ทั้งที่บริหารจัดการผิดพลาดเอง แต่กลับโทษปี่โทษกลอง

พร้อมกันนี้  นายไพโรจน์ ยังชี้แจงว่า ระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2549  ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวเองเป็นเลขาธิการสปส. โดยมีสัญญาเช่า 5 ปี และสิ้นสุดสัญญาเมื่อปี 2554 แต่ผู้บริหารยุคนั้นได้สั่งชะลอการดำเนินการไว้ก่อน และเริ่มให้ใช้งานจริงเมื่อปี 2552

จากนั้นการดำเนินการตามสัญญาเป็นไปด้วยดี ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เมื่อใกล้ครบสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2555  มีข่าวว่า จะนำเอกชนรายใหม่มาทำโครงการแทนรายเดิม แต่ผลักดันไม่สำเร็จ ขณะเดียวกัน สปส.ก็ไม่ต่อสัญญากับบริษัทรายเดิม แต่เอาเครื่องมืออุปกรณ์ของเอกชนเดิมนี้ใช้เรื่อยมาจนถึงปี 2563 เพราะตามสัญญากำหนดให้เอกชนต้องมอบอุปกรณ์ทั้งหมดให้สปส.เมื่อหมดสัญญา

อดีตเลขาธิการสปส. บอกด้วยว่า ความล่าช้าในการจ่ายเงินว่างงานมีหลายปัจจัย สาเหตุประการแรกเพราะนายจ้างที่ปิดกิจการไม่รู้ว่าต้องออกหนังสือรับรองการว่างงาน  การติดต่อกับนายจ้างก็ทำไม่ได้ง่ายๆ  เพราะปิดกิจการไปแล้ว แต่สปส. ก็ไม่ได้เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งนายจ้างให้ออกหนังสือรับรอง

ประการที่สองเป็นเพราะหลังจากสปส.ทำสัญญาว่าจ้างใช้ระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวกับบริษัทเอกชนเมื่อปี 2549  สปส.ได้แก้ไขสัญญาโดยตัดเนื้องานเชื่อมต่อข้อมูลกรมต่างๆ ในกระทรวงแรงงานออกหมด ทำให้วันนี้ สปส. จึงไม่สามารถดึงข้อมูลการปิดกิจการมาจากกรมสวัสดิการฯ มาได้อย่างรวดเร็ว

4b262b987f819cf1411c132bfe412e7f

ดังนั้นการออกมาให้ข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงเป็นการกลบเกลื่อนความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของผู้บริหารกระทรวงแรงงานเท่านั้น

สำหรับเรื่องคดีการสอบสวนความผิดของตนนั้น ป.ป.ช.พิจารณายุตินานแล้ว โดยชี้มูลให้ตนมีความผิดทางวินัย  แต่ตนก็ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งทางวินัยไปแล้ว ซึ่งศาลปกครองอยู่ระหว่างการพิจารณา

ส่วนความผิดทางอาญานั้น เดิมทีอัยการตีสำนวนกลับ เพราะองค์ประกอบความผิดไม่ชัดเจน แต่ขณะนี้ ป.ป.ช.ดำเนินการฟ้องต่อศาลคดีทุจริตไปแล้ว จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

Avatar photo