COVID-19

‘ล็อกดาวน์’ พ่นพิษ ‘แรงงานนอกระบบ’ สะเทือนทั่วโลก

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยแพร่บทความ “Contagion or starvation, the dilemma facing informal workers during the COVID-19 pandemic” ระบุว่า ประชากรโลก 1,600 ล้านคน ซึ่งทำงานในฐานะแรงงานนอกระบบ ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) ที่รัฐบาลหลายประเทศนำมาใช้เพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19

รายงานดังกล่าว เปิดเผยว่า แรงงานนอกระบบเหล่านี้อยู่ในภาคบริการอาหารและที่พัก ภาคการผลิต ค้าปลีก-ค้าส่ง รวมถึงเกษตรกรอีกกว่า 500 ล้านคน ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์อาจทำให้แรงงานนอกระบบที่อยู่ในประเทศรายได้ต่ำยากจนเพิ่มขึ้น 56% ส่วนประเทศรายได้สูง ความยากจนสัมพัทธ์ (Relative Poverty-การเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มของประชาชนที่มีรายได้แตกต่างกัน) ของแรงงานนอกระบบจะเพิ่มขึ้น 52% ส่วนประเทศรายได้ปานกลาง ความยากจนสัมพัทธ์จะเพิ่มขึ้น  21%

แรงงาน

นอกจากนี้ ด้วยความที่แรงงานต้องดูแลครอบครัว มาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศจึงไม่ประสบความสำเร็จ และอาจส่งผลให้ความตึงเครียดในสังคมเพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ โดยมากกว่า 75% ของการจ้างงานนอกระบบนั้นเกิดขึ้นในกิจการที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน รวมถึงอีก 45% เป็นคนทำงานอิสระที่ไม่มีนายจ้างตายตัว

ดังนั้นหากไม่มีวิธีการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ คนเหล่านี้จึงมีทางเลือกเพียง “เสี่ยงโรคหรืออดตาย (Die from Hunger or from the Virus)” ส่วนคนรับใช้ในบ้านก็ไม่สามารถไปทำงานได้ ทั้งโดยการเลิกจ้างโดยนายจ้างเองหรือโดยมาตรการปิดกั้นจากรัฐ ขณะที่ผู้ที่ยังได้ทำงานต่อไปก็มีความเสี่ยงติดเชื้อ

labour1

ดังนั้น วิกฤติไวรัสโควิด-19 จะทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีอยู่แล้วขยายกว้างขึ้น ซึ่งนโยบายที่ออกมาต้องแน่ใจว่าเข้าถึงแรงงานและผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือ

รายงานยังกล่าวอีกว่า หากแยกผลกระทบของแรงงานนอกระบบจากมาตรการล็อกดาวน์เป็นภูมิภาค พบว่า กลุ่มลาตินอเมริกา และกลุ่มตะวันออกกลาง ได้รับผลกระทบสูงสุดถึง 89% รองลงมาคือภูมิภาคแอฟริกา 83% ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับผลกระทบ 73% และภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง มีแรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบ 64%

Avatar photo