Business

‘โควิด-19’ ดันคนออมเงินเพิ่ม ธุรกิจเลือกฝากเงิน ‘ตุนสภาพคล่อง’

ธนาคารไทยพาณิชย์เผยเงินฝากไตรมาสแรกปีนี้โตแกร่ง 7.5% รับอานิสงส์ไวรัสโควิด-19 – อีคอมเมิร์ซ กระตุ้นคนออมเงินในรูปแบบของเงินฝากเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจเลือกฝากเงินตุนสภาพคล่อง หลังตลาดทุนและตลาดพันธบัตรผันผวนสูง

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากผลประกอบการไตรมาส 1 ของปี 2563 ของธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า ภาพรวมเงินฝากของธนาคารในไตรมาส 1 ปี 2563 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีจำนวนเงินรับฝากในไตรมาส 1 2563 อยู่ที่ 2.27 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบจากไตรมาส 1 ปี 2562 และเติบโต 5.4% เมื่อเทียบจากสิ้นปี

สาขา

การที่เงินฝากในไตรมาส 1 ที่เติบโตเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลูกค้ามีความความเชื่อมั่นในความมั่นคงของธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้ง สถานะทางการเงิน สภาพคล่อง เงินกองทุนที่เพียงพอ รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของธนาคาร ทำให้พบว่าลูกค้าทั้งกลุ่มบุคคลและกลุ่มธุรกิจได้มีการย้ายเงินฝากจากธนาคารขนาดกลางและเล็กมายังธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้นผ่านการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากเดินสะพัด หรือ CASA กับทางธนาคารเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มลูกค้าบุคคลธรรมดามีการออมเงินมากขึ้นทั้งเงินฝากออมทรัพย์ธรรมดา และออมทรัพย์ในรูปแบบเปิดบัญชีผ่านช่องทาง SCB Easy และรูปแบบบัญชีแบบไม่มีสมุด ได้แก่ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์อีซี่ และบัญชีออมทรัพย์แบบไม่มีสมุด ที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าออมทรัพย์ธรรมดา

อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์
อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์

ขณะเดียวกัน ลูกค้ามีการลดสัดส่วนการลงทุนทั้งตลาดทุนและตลาดพันธบัตรมายังเงินฝากเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะ CASA เนื่องจากความผันผวนที่สูงขึ้นมากทั้งตลาดทุนและตลาดพันธบัตร ขณะที่ลูกค้าธุรกิจมีการสะสมสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในรูปเงินฝาก และการเลื่อนการลงทุนต่างๆ แล้วเปลี่ยนการลงทุนมาอยู่ในรูปแบบเงินสด หรือเงินฝากธนาคารเพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัท ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2563 ธนาคารมีสัดส่วนเงินฝาก CASA เพิ่มขึ้นเป็น 73% จากสิ้นปี 2562 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 67%

นางอภิพันธ์ กล่าวว่า การเติบโตดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินการตามกลยุทธ์ด้านเงินฝากของธนาคารที่ต้องการเพิ่มการเติบโตของเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากเดินสะพัด หรือ CASA ทั้งปริมาณเงินฝากและจำนวนลูกค้า รวมถึงการสร้างช่องทางให้สะดวกสบายมากขึ้นจากช่องทางออนไลน์ (Online Platform) อาทิ ช่องทาง SCB Easy และพันธมิตรต่างๆ ของธนาคาร เป็นต้น

“ธนาคารเชื่อว่าเงินฝากออมทรัพย์ในรูปแบบไม่มีสมุดบัญชีจะค่อยๆ เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญในอนาคตตามทิศทางของการเติบโตของดิจิทัล แบงกิ้งในประเทศ” นางอภิพันธ์ กล่าว

Avatar photo