Business

ส่องธุรกิจ ‘On-Demand’ 1.42 แสนล้าน กลุ่มไหนรุ่ง-ร่วง หลังโควิด

​ธุรกิจการให้บริการ On-Demand มีจุดเด่นที่การตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทั้งทางบวกและทางลบต่อธุรกิจ On-Demand

นั่นคือ ทำให้มีการขยายตัวของมูลค่าตลาดในบริการบางประเภท ขณะที่บางส่วนกลับหดตัวลงอย่างมาก

ใช้มือถือ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปี 2563 การใช้จ่ายของผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจกลุ่ม On-Demand ที่ได้รับความนิยม 4 ประเภท ได้แก่ บริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery), การเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่น. การให้ความบันเทิงแบบ On-Demand และการจองที่พักและตั๋วเครื่องบิน จะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.42 แสนล้านบาท ลดลง 32.5% จากภาวะปกติ ซึ่งหลังจากนี้คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่าจะคลี่คลายเมื่อไร

สำหรับธุรกิจ On-Demand ประเภทที่ขยายตัว ได้แก่ บริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery) คาดว่ามูลค่าตลาดในปี 2563 จะอยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากภาวะปกติ และบริการให้ความบันเทิงแบบ On-Demand คาดว่ามูลค่าตลาดในปีนี้จะอยู่ที่ 2,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากภาวะปกติ

food delivery

ขณะที่ธุรกิจ On-Demand ที่หดตัวลดลง ได้แก่ บริการจองที่พักและตั๋วเครื่องบิน คาดว่ามูลค่าตลาดในปีนี้จะอยู่ที่ 8.4 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 40-45% จากภาวะปกติ และบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่น คาดว่ามูลค่าตลาดในปีนี้จะอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 34% จากภาวะปกติ

สำหรับธุรกิจอื่น ๆ ที่ธุรกิจการให้บริการแบบ On-Demand น่าจะมีการขยายตลาดเข้าไปมากยิ่งขึ้น ได้แก่ บริการตกแต่งดูแลบ้าน บริการเสริมความงามหรือนวดตามบ้าน บริการจัดหาพี่เลี้ยงเด็กและผู้สูงวัย และบริการเช่ายานพาหนะ เป็นต้น

จองโรงแรม

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจการให้บริการขนาดเล็ก-กลาง ที่มีช่องทางการทำธุรกิจที่จำกัด อาจพิจารณาปรับรูปแบบของตนให้เอื้อต่อการให้บริการในรูปแบบ On-Demand ที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อธุรกิจของตน โดยพิจารณาตามบริบทที่ต่างกันของแต่ละธุรกิจ ทั้งในด้านราคา/ต้นทุน การแข่งขัน และเงื่อนไขต่าง ๆ ของผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งจะมีผลต่อโอกาสและคุณภาพในการให้บริการ

Avatar photo