Business

เทรนด์จ้างงานยุค ‘New Normal’ โอกาสเอาท์ซอร์ส ลูกจ้างต้องปรับครั้งใหญ่

จากแนวโน้มการปรับตัวของนายจ้างหลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) คาดการณ์ว่า นายจ้างจะปรับตัวสู่ “New Normal” ด้วยการรัดเข็มขัดมากขึ้น เปิดสมัครใจลาออกเพิ่มขึ้น มุ่งใช้เทคโนโลยีแทนคน ฯลฯ

workers 2020551 1280

เห็นได้จากการที่ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ(EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบประเมินว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด จากผลการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ซึ่งส่งผลกระทบในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงาน

สำหรับกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูง จะเป็น กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้างธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีสัดส่วนถึง 62% ของแรงงานไทย และมีความอ่อนไหวสูงต่อภาวะเศรษฐกิจ พร้อมทั้งประเมินว่า จะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นสูงถึง 3-5 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าทุกวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเลยทีเดียว

สอดคล้องกับ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์โควิด-19 ของหอการค้าไทย ภาคเอกชนคาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีแรงงานตกงานถึง 7.13 ล้านคน จากธุรกิจบันเทิงที่จะเลิกจ้าง 6 หมื่นคน, ร้านอาหาร 2.5 แสนคน, สปาและร้านนวดในระบบ 3.96 หมื่นคน, สปาและร้านนวดนอกระบบ 2 แสนคน, โรงแรม 9.78 แสนคน, ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7.76 หมื่นคน, สิ่งทอ 2 แสนคน และธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน

Worker 01

“หากยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือนตัวเลขการตกงานอาจจะเพิ่มถึง 10 ล้านคน ซึ่งขณะนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจะเป็นเอสเอ็มอีหากการระบาดของโควิด-19 ยืดยาวเกินเดือน มิ.ย.นี้ จะลามไปกระทบธุรกิจใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการตกงานสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้”นายกลินท์กล่าว

ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะเกิดภาวะการว่างงานสูงขึ้นแน่นอน อันเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติไวรัสโควิด -19

อย่างไรก็ตามในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ โดยหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก และมองว่าจะได้อานิสงส์หลังจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 คลี่คลายคือ ธุรกิจเอาท์ซอร์ส อันเป็นผลจากการที่นายจ้างยุค “New Normal” มีแนวโน้มลดการจ้างพนักงานประจำลงเพื่อลดต้นทุน และหันมาใช้พนักงานเอาท์ซอร์ส ที่สามารถควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้

จิรณุ กุลชนะรัตน์
จิรณุ กุลชนะรัตน์

นายจิรณุ กุลชนะรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO เปิดเผยกับ “TheBangkokInsight” ว่า ตลาดแรงงานจะเปลี่ยนแปลงเยอะมากหลังโควิด-19 โดยเฉพาะการจ้างงานประจำหรือจ้างถาวรจะลดลง เพราะเป็นค่าใช้จ่ายประจำ และหากเกิดวิกฤติต้องการลดคน จะปรับลดพนักงานยากกว่าการใช้เอาท์ซอร์สที่สามารถลดคนได้ทันที

ทั้งนี้เห็นได้จากลูกค้าที่ใช้บริการพนักงานเอาท์ซอร์สของสยามราชธานี ที่เริ่มขอลดคนเฉพาะช่วงนี้ก็สามารถทำได้ทันที  และหากต้องการคนกลับไปทำงานก็สามารถจ้างเพิ่มได้ทันที โดยไม่ต้องมาเริ่มกระบวนการใหม่ในการรับคนตั้งแต่แรก ซึ่งทุกอย่างเป็นต้นทุน

แนวโน้มหลังโควิดเรามั่นใจว่าจะเกิดแนวโน้มการใช้เอาท์ซอร์สมากขึ้น เห็นได้จากช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่หลังเกิดวิกฤติธุรกิจจะใช้วิธีการจ้างเอาท์ซอร์สให้มากที่สุด จะเหลือพนักงานประจำเฉพาะที่เป็นกลุ่ม Core Business เท่านั้น ส่วนงานสนับสนุนจะใช้เอาท์ซอร์ส เช่น ช่าง ธุรการ ประชาสัมพันธ์ พนักงานต้อนรับ เป็นต้น

แรงงาน

ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าประมาณเกือบ 300 บริษัท ซึ่งจากการเกิดวิกฤติโควิด-19 มีบางบริษัทขอลดพนักงานเอาท์ซอร์สเพื่อคุมค่าใช้จ่าย และเริ่มเห็นสัญญานกลับมาจ้างงานอีกครั้ง เช่น การบินไทยที่จะเปิดบริการบิน จะกลับมาจ้างพนักงานที่ลดไปประมาณ 40 คน แต่ล่าสุดติดต่อกลับมาขอจ้างพนักงานเพิ่มมากกว่าจำนวนที่ลดลงไป เช่น พนักงานขับรถในลานจอด ช่าง เป็นต้น เป็นสัญญานว่าจะมีการใช้เอาท์ซอร์สมากขึ้น

“โควิดหนักกว่าต้มยำกุ้งเยอะ เพราะตอนต้มยำกุ้งบริษัทใหญ่เจ๊งจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่รากหญ้ายังอยู่ได้ แต่โควิด ที่มีปัญหามากที่สุดคือบริษัทขนาดกลางถึงล่างเพราะทนค่าใช้จ่ายไม่ไหว ตอนต้มยำกุ้งเอาท์ซอร์สได้อานิสงส์จากการจ้างงานมากขึ้นเพราะบริษัทต้องการลดค่าใช้จ่าย ส่วนโควิดกระทบแค่ 3-4% และมองว่าจะดีขึ้นหลังจากนี้” นายจิรณุกล่าว

ในส่วนของการนำระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคนเพิ่มมากขึ้นนั่น ย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานคน โดยเฉพาะในไลน์การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มเห็นการลดการจ้างพนักงานเอาท์ซอร์สที่ใช้ในไลน์การผลิตแล้วเช่นกันสำหรับบริษัทเอาท์ซอร์สที่เจาะกลุ่มการผลิตในโรงงาน แต่สำหรับบริษัทไม่ได้ทำธุรกิจในส่วนนี้ จึงไม่ได้รับผลกระทบ

data solutions 03

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้เกิดการปรับลดคนในธุรกิจที่โดนพิษโควิด-19 กระหน่ำเต็มๆ โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยว สายการบิน ร้านอาหาร ค้าปลีก ทำให้ในส่วนของแรงงานหรือพนักงานต้องปรับตัวเองในยุคที่ถูกโควิด-19 ดิสรัปอย่างรุนแรง

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า วิกฤติไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้องค์กรต้องปรับเปลี่ยนสู่องค์กรยุคใหม่อย่างฉับพลัน โดยยกตัวอย่างการปรับตัวของ “Lin qingxuan”  แบรนด์เครื่องสำอางจีนที่สามารถพลิกวิกฤติ ด้วยการเปลี่ยนทักษะการทำงานของพนักงาน เพื่อสร้างความอยู่รอดของธุรกิจ

“Lin qingxuan” เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่หน้าร้านกว่า 300 สาขา มีพนักงานกว่า 2,000 คน ที่ผ่านมามีการพยายามทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ออนไลน์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการของตลาด ผู้บริโภคหดตัวลงอย่างรวดเร็วจนต้องปิดสาขากว่า 50% ยอดขายลดลงกว่า 90%

อริญญา เถลิงศรี

จุดเปลี่ยนของแบรนด์จึงเริ่มต้นขึ้น โดยผู้บริหารเข้ามาพูดคุยปลุกใจพนักงาน ด้วยการพูดถึงความสำเร็จที่เคยทำได้ในอดีต ยิ่งเฉพาะเมื่อช่วงตรุษจีนเคยทำยอดขายได้ถึง 1,000 ล้านชิ้น พร้อมเชิญชวนพนักงานให้ร่วมฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ด้วยการเปลี่ยนการทำงานแบบเดิม ๆ พร้อมกับมองหาการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจ เพื่อพาองค์กรเดินทางสู่เส้นทางใหม่ โดยไม่ยึดติดกับการขายผ่านหน้าร้านอีกต่อไป

จนเมื่อ Lin qingxuan ได้พาร์ทเนอร์รายใหม่ พร้อมกับลงทุนครั้งใหญ่กับแพลตฟอร์มออนไลน์ “DingTalk” ของ อาลีบาบา และ เถาเป่า เพื่อสร้างออนไลน์ เอนเกจเมนท์กับกลุ่มลูกค้าผ่านการโปรโมตคูปองสินค้า ขณะเดียวกัน ก็ส่งพนักงานขายหน้าร้าน (shopping advisor) ไปเรียนรู้วิธีการพูด และการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์

จากวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร นำมาสู่การปรับทักษะเพิ่มทักษะพนักงาน ด้วยการฝึกให้พนักงานพูดหน้ากล้องอย่างหนัก พร้อมกับจำลองสถานการณ์โดยให้ลูกค้ามาร่วมฝึกด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่และท้าทายพนักงานทุกคนมาก เพราะการพูดหน้ากล้องไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน แต่ผลลัพธ์ที่ได้หลังเปิดแคมเปญวันแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 จากการไลฟ์สตรีมมิ่งในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง พบว่าพนักงานสามารถขายสินค้า “Camelia Oil” ได้กว่า 4 แสนชิ้น เทียบเท่ากับยอดจำหน่ายหน้าร้านถึง 4 สาขารวมกัน และยังไม่รวมสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย

นี่เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่สามารถปรับ เพิ่ม ทักษะของพนักงาน ที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า หลังวิกฤติโควิด-19 ทักษะเดิมๆ จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ทำให้พนักงานยุคใหม่ต้องปรับตัวเองด้วยการเพิ่มทักษะใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดทั้งของตัวเองและขององค์กร

Avatar photo