General

6 พ.ค. ‘วันวิสาขบูชา’ ปีนี้ไม่ต้องไปวัด เวียนเทียนที่บ้านหนี ‘โควิด-19’

“วันวิสาขบูชา”  หรือ “วันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ” ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวพุทธ์ทั่วโลก เป็นวันหยุดราชการในหลายๆ ประเทศ อีกทั้งยังเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพราะเป็นวันที่มีเหตุการณ์ 3 เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนาเกิดขึ้นตรงกันในวันนี้ คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

  • วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ   ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ กับเทวทหะ
  • วันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ที่ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ภายหลังจากการออกผนวชได้ 6 ปี
    ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร อินเดีย
  • วันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง  เมื่อมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ  หลังจากที่ทรงออกประกาศพระธรรมวินัย และโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี
    ปัจจุบัน สถานที่ปรินิพพานนี้ อยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย

ชาวพุทธถือว่า วันนี้เป็นวันที่น่าอัศจรรย์อย่างมาก และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ

cover02 01

วิสาขบูชาในไทยมาจากไหน 

จากหลักฐานพบว่า วันวิสาขบูชา ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี  สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกาเมื่อประมาณ พ.ศ. 420 อาจเป็นเพราะในยุคสมัยี้  ไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนา กับลังกาอย่างใกล้ชิด  มีพระสงฆ์จากเมืองลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

การปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ นางนพมาศ สรุปใจความได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย

ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ

ภายหลังจากสมัยสุโขทัย ไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้นไม่มีปรากฏหลักฐานการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2360) พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นใหม่

สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 โดยให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศลทั่วหน้ากัน อีกทั้งการรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ ถือว่าเป็นแบบอย่างปฏิบัติในการประกอบพิธีวิสาขบูชาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กิจกรรมวันวิสาขบูชา

ตามปกติแล้ว ในวันวิสาขบูชานี้ ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อจัดพิธีทำบุญใหญ่ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยในฐานะที่วันวิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญของโลก เมื่อวันวิสาขบูชามาถึง สำนักงานยูเอ็นในนครนิวยอร์ก สหรัฐ จะอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลก ที่ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประกาศบูชาวันวิสาขะ

สำหรับในไทยนั้น นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเดินทางเข้าวัดบำเพ็ญกุศล ถือศีล ฟังธรรมแล้ว ยังนิยมปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในช่วงค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอีกด้วย นอกเหนือจากการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และบำเพ็ญกุศลความดีอื่นๆ  ตลอดทั้งวัน

เวียนเทียนหนี ‘โควิด-19’

อย่างไรก็ดี ประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานนี้ อาจต้องผิดแผกออกไปสำหรับวันวิสาขบูชา ปี 2563 เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงในไทย ทำให้มหาเถรสมาคมมีมติให้วัดทุกวัดทั่วประเทศ และวัดไทยในต่างประเทศ งดจัดกิจกรรมที่คนมาร่วมตัวกันทุกประเภท ยกเว้นกิจของสงฆ์ พร้อมแนะนำให้เวียนเทียนพร้อมพระสงฆ์ที่บ้านในเวลาประมาณ 19.00 น.

Avatar photo