Business

‘คมนาคม’ ย้ำ! มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมใน ‘ขนส่งสาธารณะ’ หลังคลายล็อกดาวน์

ปลัดคมนาคมย้ำ! “ขนส่งสาธารณะอย่าละเลยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์สกัดไวรัสโควิด-19 แนะประชาชนควรเดินทางเท่าที่จำเป็น พร้อมเปิดสถิติตั้งแต่เดือน มี.ค. คนเดินทางทุกโหมดลดลง 80%

ชัยวัฒน์ ทองคำคูร

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภาพรวมของปริมาณผู้โดยสารที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบ ตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน มีสัดส่วนลดลงประมาณ 70-80% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้สามารถดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดได้ โดยการเว้นที่นั่งและที่ยืนในการโดยสาร 1-2 เมตร

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้มีการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นปัญหาในการจัดการขนส่งสาธารณะให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 ของผู้โดยสารในบางระบบการเดินทาง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปฏิบัติมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19

เช่น การสลับ/เหลื่อมเวลาทำงาน การปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home) ควบคู่กับความร่วมมือร่วมใจของประชาชนผู้เดินทางในการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างทางสังคม วางแผนและเผื่อเวลาในการเดินทาง เพื่อให้สามารถกระจายความหนาแน่นแออัดในการเดินทางช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้โดยเร็วที่สุด

90172348 10158207671369516 9221273202301337600 o

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า ตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีมาตรการที่เข้มงวดขอให้ประชาชนอยู่ในเคหสถาน เดินทางเท่าที่จำเป็น และเว้นระยะห่างทางสังคม ตลอดจนการสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ

กระทรวงคมนาคมก็ได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายดังกล่าว เช่น การคัดกรองผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการในระบบรถสาธารณะ การกำหนดให้ต้องสวมหน้ากากตลอดระยะเวลาการเดินทางในทุกระบบ รวมถึงการจัดเจลแอลกอฮอล์เพื่อบริการประชาชน เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในสถานีและยานพาหนะ ที่สำคัญคือการกำหนดที่นั่ง ที่ยืน การเข้าแถวคอยรับบริการ ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ผู้บริการ และประชาชน จนเป็นผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมาก

นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานทุกภาคส่วนในการให้ความร่วมมือปฏิบัติงานที่บ้านเพิ่มมากขึ้น และกำหนดให้มีการสลับ/เหลื่อมเวลา การทำงาน และมีการเดินทางเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวจนถึง 31 พฤษภาคม 2563 พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่ให้บริการขนส่งสาธารณะทุกระบบ ทั้ง ทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ จัดเจ้าหน้าที่บริหารจัดการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมภายในอาคารสถานี ชานชาลา และภายในยานพาหนะอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการกลับมาระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรงภายในประเทศอีก

EXN1E78UMAEIzVq
                                                 ขอบคุณภาพจากทวิตเตอร์ @OharuNoHaru

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปลัดกระทรวงคมนาคมได้ออกมาตอกย้ำเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมบนระบบขนส่งสาธารณะ หลังจากช่วงเช้าวันนี้ (5 พ.ค.) รถไฟฟ้า BTS เกิดขัดข้อง ส่งผลให้ผู้โดยสารที่อยู่บนขบวนรถและชานชาลาเกิดความแออัด จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การให้บริการไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19

Avatar photo