World News

วิกฤติตุรกีกดดันแบงก์ชาติเอเชียขึ้นดอกเบี้ย

บรรดาธนาคารกลางในเอเชียกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน ที่อาจจะต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หลังความปั่นป่วนในตุรกี บั่นทอนสกุลเงินตลาดเกิดใหม่มากขึ้น ท่ามกลางความวิตกว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงัก

RUPIAH 190418

การประชุมเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายธนาคารกลางอินโดนีเซียในวันนี้ (15 ส.ค.) ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ก่อนหน้านี้ จะมีนักวิเคราะห์เพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่คาดว่า แบงก์ชาติอินโดนีเซียจะขึ้นดอกเบี้ยอีก แต่วิกฤติตุรกี ที่ส่งผลให้เกิดการเทขายหลักทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง เพื่อปกป้องเงินรูเปียห์

ในปีนี้ สกุลเงินหลักของอินโดนีเซียอ่อนค่าลงไปแล้วถึง 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ จากการที่นักลงทุนมองว่า พื้นฐานเศรษฐกิจประเทศอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการเทขายเงินรูเปียห์ ซึ่งนับแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ขึ้นมาแล้วรวม 1.00%

ทั้งนี้ นับแต่ต้นปี 2561 สกุลเงินเอเชียเกือบทั้งหมดอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ พากันใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็สร้างแรงกดดันให้กับธนาคารกลางเหล่านี้ด้วย

นักวิเคราะห์ชี้ว่า เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับวิกฤติการเงินตุรกี อาจทำลายความพยายามของธนาคารกลางเอเชีย ที่จะหนุนสกุลเงินของตัวเองให้แข็งค่าขึ้น

อินเดีย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเงินรูปี ซึ่งมีผลประกอบการย่ำแย่สุดในกลุ่มเงินเอเชียเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดิ่งลงไปแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 69.62 รูปีต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ธนาคารกลางอินเดียต้องเข้าไปแทรกแซงตลาด

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ก็เป็นรายล่าสุด ที่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% มาอยู่ที่ 4.0% ถือเป็นปรับขึ้นมากสุดในรอบ 10 ปี

pine

ฟิลิปปินส์ก็เหมือนกับอินเดีย ที่พยายามควบคุมราคาสินค้าที่กำลังทะยานสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของครัวเรือน และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบอย่างน้อย 5 ปี ก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนฐานะยากจนอย่างหนัก

นับตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินเปโซฟิลิปปินส์อ่อนค่าลงมาแล้วมากกว่า 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยมีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่อ่อนค่าลงไปถึง 53.7 เปโซต่อดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบกว่า 12 ปี
ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็รับรู้ถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยธปท.ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอยู่ที่ระดับ 1.5% เมื่อเดือนเมษายน 2558 และคงอยู่ในระดับดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้

ระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา มีกรรมการเพียง 1 คน จากทั้งหมด 7 คน ที่เห็นพ้องกับการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาราว 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์

แม้ระดับเงินเฟ้อของไทยที่ 1.5% เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จะยังไม่เป็นปัญหารุนแรงเท่ากับฟิลิปปินส์ แต่ก็ทำให้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้
อย่างไรก็ตา การเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงิน อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ว่าธนาคารกลางประเทศใดก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น นั่นก็คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง

โทรุ นิชิฮามะ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยไดอิจิ ไลฟ์ รีเสิร์ช เตือนว่า ธนาคารกลางในเอเชียจะต้องระมัดระวังถึงการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงิน เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในหลายๆ ด้าน ที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมาก อาทิ ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น

ที่มา: Nikkei Asian Review

Avatar photo