Business

แผนฟื้นฟูการบินไทย! ชี้ชัดปีนี้ ‘ขาดทุน 5.9 หมื่นล้าน’ ก่อนทะยานมีกำไรปี64

เปิด 6 กลยุทธ์ สู่แผนงาน โครงการ การปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม ภายใต้แผนฟื้นฟูการบินไทยช่วง 5 ปี (63-67) พร้อมปลดระวางเครื่องบิน 22 ลำ คณะทำงานยังประมาณการงบกำไรขาดทุนช่วง 5 ปี ละเอียดยิบ พบปีนี้การบินไทยจะขาดทุนถึง 5.9 หมื่นล้าน แต่จะมีกำไรเกิดขึ้นทันทีในปี 64 หากดำเนินตามแผนฟื้นฟูปี67 จะมีกำไรถึง 1.37 หมื่นล้าน   

ตามแผนฟื้นฟูธุรกิจปี 2563-2567 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ซึ่งเป็นแผนที่เสนอให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว พร้อมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธาน พิจารณาไปเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 นั้น ภายใต้แผนฟื้นฟูได้ระบุว่า

IMG 20200428151502000000

แผนฟื้นฟูธุรกิจ (Recovery Plan) ระบุว่า การบินไทยเป็นบริษัทมหาชน ที่ดำเนินธุรกิจและสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อความเติบโตอย่างยั่งยืน จากการดำเนินการตามพันธมิตรในรูปแบบกลุ่มธุรกิจสายการบิน( Airline Business) ซึ่งมีการบินไทยเป็นสายการบินที่ให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ (Premiumfull Service network airline เน้นเส้นทางบินระยะไกล มีสายการบินไทยสมายล์ เป็นสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบที่คำนึงถึงประสิทธิภาพต้นทุน โดยเน้นเส้นทางบินในประเทศ และเส้นทางบินรองในภูมิภาค เพื่อเสริมเส้นทางบินของการบินไทย ด้วยฐานผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อกัน จากการบูรณาการร่วมกัน รวมทั้งเป็น Connecting Partner ของกลุ่มพันธมิตรการบิน Star Alliance

นอกจากนี้ จะมีสายการบินนกแอร์ ให้บริการแบบสายการบินต้นทุนต่ำ ที่มีฐานปฎิบัติการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยสารการบินในกลุ่ม THAI Group จะสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการผ่านช่องทางการจำหน่ายสำคัญในประเทศและต่างประเทศ เสริมศักยภาพการแข่งขันร่วมกัน ให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายในแต่ละตลาด

การบินไทย30

พร้อมกันนี้ บริษัท ยังดำเนินการเพื่อ ลดความเสี่ยง จากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก ด้วยการผลักดันให้เกิดรายได้เสริม (Ancillary Revenue) และการแสวงหาโอกาสจากการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ กลุ่มธุรกิจการบิน (Aviation Business) เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจต่างๆของ Aviation Industry Value Chain เช่น ธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน ธุรกิจพัฒนาท่าอากาศยาน เป็นต้น ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจ 2563-2567 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจ มุ่งลดผลกระทบจากวิกฤติ ปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ และเตรียมพร้อมที่จะสร้างโอกาสกลับมามีผลกำไร จากการดำเนินงาน หลังจากผ่านสถานการณ์ในช่วง COVID-19 โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน

1. การลดขนาดองค์กร (Downsizing) เพื่อบริหารประสิทธิภาพต้นทุนและการดำเนินงาน

2. การปฎิรูปองค์กร (Transformation) เพื่อปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

3. การสร้างความสามารถในการทำกำไร (Profitability) เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำกำไรอย่างยั่งยืน จากการลดขนาดองค์กรและการปฎิรูปองค์กร

โดยขั้นตอนตามแผนฟื้นฟุธุรกิจ ได้กำหนดเป็น 6 กลยุทธ์ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนงาน โครงการ และนำไปสู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่มีผู้รับผิดชอบหลัก ระยะเวลาที่ชัดเจน และผลลัพธ์ที่คาดหวังดังนี้

1. กลยุทธ์การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน (Network Strategy)

2. กลยุทธ์การปรับปรุงแผนฝูงบิน (Fleet Strategy)

3. กลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ (Commercial Strategy)

4. กลยุทธ์การปรับปรุงการปฎิบัติการและต้นทุน (Operation & Cost Strategy)

5. กลยุทธ์การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร (Organization Strategy)

6. กลยุทธ์การจัดการกลุ่มธุรกิจของบริษัท (Portfolio Strategy)

นอกจากนี้ ตามแผนฟื้นฟูยังได้เสนอ แผนการปลดระวางเครื่องบินในช่วงปี 2563-2567 (ตามตาราง)

29Apr แผนปลดระวาง

จากแผนการปลดระวางดังกล่าว เมื่อบริษัทวางแผนลดกำลังการผลิต จึงต้องกำหนดให้เครื่องบิน ที่มีการปลดระวางทั้ง 22 ลำ หยุดทำการบินเร็วขึ้นในปี 2563

แผนการรับมอบเครื่องบินที่ได้รับอนุมัติแล้ว โดยมีแผนรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 777- 300 ER จำนวน 3 ลำ ในไตรมาส 4 ปี 2563 บริษัทได้อนุมัติให้เช่าดำเนินงานเพิ่มเติม ระยะเวลา เช่า 10ปี ตามติคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งจำนะมาใช้ทดแทนเครื่องบินโบอิ้ง 747-400 จำนวน 5 ลำ ที่จะต้องปลดระวางในปี 2563

ดังนั้นจำนวนเครื่องบินที่ปลดระวางเร็วขึ้น และการรับมอบเครื่องบินใหม่ บริษัทจะมีเครื่องบินที่ใช้ปฎิบัติการสำหรับการบินไทย ทั้งสิ้นจำนวน 64 ลำ ลดลง 19 ลำ คาดว่าจะทำให้มีปริมาณการผลิตในปี 2564 ลดลงประมาณ 28% เทียบกับปี 2562

29Apr แผนการลงทุนเครื่องบิน

นอกจากนี้ จะทำให้การดำเนินงานมีต้นทุนลดลง สามารถลดแบบเครื่องบินจาก 7 แบบ เหลือ 6 แบบ และเครื่องยนต์จาก 9 แบบเหลือ 7 แบบ ซึ่งจะทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายในการซ่อม และเก็บอะไหล่สำรองลดลงได้เป้นจำนวนมาก และเป้นการเพิ่มความคล่องตัวในการปฎิบัติการบินด้วย พร้อมวางเป้าหมายให้มีเครื่องบินพร้อมใช้งาน และการซ่อมบำรุงที่เกิดขึ้น จะต้องไม่ทำให้ตารางบินเบี่ยงเบนเกิน 15%

 

สำหรับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน เพื่อให้บริษัทมีเสถียรภาพทางการเงินที่จสามารถดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงและมีศักยภาพ ที่จะลงทุนในการขยายกิจการ โดยมีโครงสร้างเงินทุนที่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ประกอบกับในอนาคตบริษัทคาดว่า จะต้องมีการนำมาตรฐานการรายงานการเงิน เรื่อง สัญญาเช่า ฉบับใหม่ มาใช้ในการรายงานทางบัญชี (ในที่นี้สมมติฐานตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป) ทำให้ระหว่างปี 2563-2567 บริษัทมีเป้าหมายในการควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2.5 เท่า 

กำไรขาดทุน TG

อย่างไรก็ตาม ตามแผนฟื้นฟูที่จัดทำขึ้น จากประมาณการงบกำไรขาดทุนตามแผนฟื้นฟูปี 2563-2567 พบว่าปีนี้การบินไทยจะต้องประสบปัญหาการขาดทุนหลังหักภาษี 59,062 ล้านบาท แต่กการบินไทยจะเริ่มทำกำไรได้ในปี 2564 ถ้าได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่จัดทำขึ้นอย่างจริงจัง โดยปี 2564 การบินไทยจะมีกำไรหลังหักภาษี 4,519 ล้านบาทและจะเพิ่มขึ้นทุกปีตามแผนฟื้นฟูจนปี 2567การบินไทยจะมีกำไรถึง 13,702 ล้านบาท

Avatar photo