Business

พาณิชย์ ชูโมเดล ‘แฟรนไชส์’ สร้างอาชีพบรรเทาโควิด-19

พาณิชย์ เตรียมแผนบรรเทาความเดือดร้อนโควิด-19 ดึงโมเดล “แฟรนไชส์” ฟื้นฟูผู้รับผลกระทบโควิด-19 ประสานสมาคมแฟรนไชส์ลดค่าธรรมเนียม ถกธนาคารปล่อยสินเชื่อ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” โดยระบุว่า

วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล

“แผนฟื้นฟูอาชีพหลังโรคโควิด-19 คลี่คลาย ผมจะใช้โมเดล “แฟรนไชส์” สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อเพิ่มช่องทางทำมาหากินให้ผู้เดือดร้อน ผันตัวเองจากลูกจ้างมาเป็นผู้ประกอบการ

เราจะเน้นแฟรนไชส์ขนาดไม่ใหญ่ สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ทันที ผมจะประสานเจ้าของแฟรนไชส์ลดค่าธรรมเนียมแรกเข้า เพิ่มการจ้างงานเข้าระบบ พร้อมหารือสถาบันการเงินให้สินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการครับ”

นายวีรศักดิ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ได้หารือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการเตรียมแผนรองรับและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะใช้โมเดลแฟรนไชส์ มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เพิ่มช่องทางทำมาหากินให้แก่ประชาชน โดยจะเน้นแฟรนไชส์ขนาดไม่ใหญ่ สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ทันที เช่น ข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ ลูกชิ้นทอด ข้าวเหนียวหมูปิ้ง กาแฟโบราณ ฯลฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางเพื่อช่วยเหลือไว้ 2 แนวทาง คือ 1. เจ้าของแฟรนไชส์จ้างงานเข้าสู่ระบบแฟรนไชน์  และ 2. เป็นเจ้าของกิจการเองโดยเลือกลงทุนซื้อแฟรนไชส์มาประกอบเป็นอาชีพ

วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล1

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะประสานไปยังสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ เพื่อขอความร่วมมือจากเจ้าของแฟรนไชส์จ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์และลดค่าธรรมเนียมแรกเข้าสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุน รวมทั้งหารือกับสถาบันการเงิน เพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษแก่ผู้ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ เน้นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว รวมถึงผู้กู้สามารถชำระคืนเงินต้นได้

พร้อมกันนี้ หากผู้สนใจเลือกแฟรนไชส์ไปประกอบอาชีพแล้ว แต่ยังไม่มีทำเลหรือสถานที่ขายสินค้า จะประสานงานกับสถานีให้บริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า และคอนวีเนียนสโตร์ขนาดใหญ่ ในการจัดหาพื้นที่ขายสินค้าให้ โดยการจัดสรรพื้นที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสินค้าแต่ละประเภท

ขณะเดียวกัน จะให้ความรู้และ คำปรึกษาแนะนำในการเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ และเป็นตัวกลางประสานเจ้าของกิจการในการเจรจาธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ สามารถเลือกซื้อแฟรนไชส์ไปประกอบเป็นอาชีพได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะคัดเลือกแฟรนไชส์ที่ผ่านการส่งเสริม  และมีเงินลงทุนไม่มาก ตั้งแต่ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท มาให้ผู้ที่สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์แต่มีเงินไม่มากสามารถเลือกลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการได้”นายวีรศักดิ์ กล่าว

การเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ได้รับผลกระทบโควิด -19 เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง และที่สำคัญ คือ มีเจ้าของแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินให้ โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ

Avatar photo