Business

‘เอสซีจี’ ยอดขาย-กำไรลด เคมีภัณฑ์ราคาตก แพคเกจจิ้งโตตามเดลิเวอรี่-ออนไลน์

เอสซีจี รายได้ไตรมาสแรกลด 6% กำไรวูบ 40% เหตุราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง ขณะที่ธุรกิจแพคเกจจิ้งคว้าอานิสงส์เดลิเวอรี่ ค้าออนไลน์ ดันโตสวนทาง 15%

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 1  ปี 2563 มีรายได้จากการขาย 105,741 ล้านบาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ลดลง แต่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

ขณะที่ผลกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 6,971 ล้านบาท ลดลง 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 2% จากไตรมาส 4 ปี 2562 ซึ่งเป็นการลดลงตามผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าลดลง

ในส่วนของยอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) ในไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 46,120 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 44% ของยอดขายรวม โดยเติบโตเพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 1,372 ล้านบาท คิดเป็น 1.3% ของยอดขายรวม

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ทั้งสิ้น 44,859 ล้านบาท คิดเป็น 42% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เอสซีจีมีรายได้จากการส่งออกจากประเทศไทย 24,319 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของยอดขายรวม ซึ่งลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เอสซีจี โฮม

ทั้งนี้ เมื่อแยกตามกลุ่มธุรกิจ พบว่า ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 38,329 ล้านบาท ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์และปริมาณขายที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,778 ล้านบาท ลดลง  70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 46,245 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ลดลง แต่เพิ่มขึ้น  2% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาล โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,778 ล้านบาท ลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 113% จากไตรมาสก่อนหน้า

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีรายได้จากการขาย 24,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการรวมผลประกอบการ Fajar และ Visy ประเทศไทย รวมถึงการทำงานเชิงรุกในทุกหน่วยงานภายในเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แพคเกจจิ้ง

สำหรับในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เอสซีจีก็เป็นหนึ่งองค์กรซึ่งใช้ความพยายามอย่างมากที่จะรักษาผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ให้ใกล้เคียงไตรมาสก่อน แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มส่งผลต่อธุรกิจในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“เอสซีจีทุ่มเทเชิงรุกและรวดเร็วในการบริหารจัดการความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ เสริมกับการเตรียมความพร้อมด้วยการปรับกลยุทธ์สู้ศึกดิสรัปชันในช่วงที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น ภายใต้การขานรับมาตรการภาครัฐเพื่อรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้พนักงานที่สำนักงานกว่า 90% สามารถทำงานได้จากที่บ้าน”นายรุ่งโรจน์กล่าว

มาตรการจัดส่ง

ขณะเดียวกันก็ช่วยให้การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งมอบโซลูชันสินค้าและบริการต่าง ๆ ไปยังลูกค้าทุกกลุ่มมีความสะดวกและปลอดภัย ควบคู่กับการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปได้ เช่น การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการผลักดันการใช้บล็อกเชน ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงินกับคู่ธุรกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ยังรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง พร้อมเตรียมปรับตัวอย่างเต็มที่ในการรับความท้าทายหากสถานการณ์ยาวนานต่อไป

ขณะที่การช่วยเหลือสังคมนั้น เอสซีจีได้นำความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการเร่งพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ และทันต่อความต้องการ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการดูแลประชาชน อาทิ นวัตกรรมห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Screening & Swab Unit) โดยเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution รวมทั้งนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ โดยธุรกิจเคมิคอลส์ เป็นต้น

Avatar photo