Business

เขย่าต้นทุน-เพิ่มรายได้ ทางเลือกเดียวของ ‘ทอท.’ พยุงสนามบินฝ่าวิกฤติโควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ปี 2563 กลายฝันร้ายสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบิน รวมถึง “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.” ผู้บริหารสนามบินหลัก 6 แห่งของประเทศไทย

ในเดือนนี้ ทอท. จึงปรับคาดการณ์ตัวเลขในปีงบประมาณ 2563 ใหม่ โดยประเมินว่า ปริมาณผู้โดยสารจะลดลง 53% เหลือ 66.58 ล้านคน และปริมาณเที่ยวบินลดลง 45% เหลือ 4.9 แสนเที่ยวบิน ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ประเภทภาษีสนามบิน (PSC) ที่เรียกเก็บจากผู้โดยสารและค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากสายการบิน

fig 03 01 2020 03 00 11

นอกจากผลกระทบทางตรงแล้ว ทอท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจและห่วงโซ่สำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังต้องช่วยพยุงคู่ค้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจ้างงานและพากันล้มครืนไปทั้งหมด

โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. มีมติช่วยเหลือคู่ค้า 2 ครั้ง คือวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 และวันที่ 22 เมษายน 2563 ซึ่งเปรียบเสมือนการจ่าย “ยาแรง” เพื่อช่วยพยุงสายการบินและผู้ประกอบการภายในสนามบิน ที่ได้รับพิษโควิด-19 จนอยู่ในอาการหายใจรวยรินไปตาม ๆ กัน

สำหรับมาตรการที่ได้รับการอนุมัติ เช่น ลดค่าเช่าพื้นที่ 50% แก่ผู้เช่าทุกรายเป็นระยะเวลา 9 เดือน แต่หากร้านค้าหรือสายการบินขอหยุดประกอบกิจการชั่วคราว ก็จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงลดการเก็บค่าธรรมเนียมของสายการบิน และให้คู่ค่าเลื่อนการจ่ายค่างวดต่างๆ ได้ เป็นต้น

เบื้องต้น ทอท. ประเมินว่า มาตรการช่วยเหลือเหล่านี้จะทำให้รายได้ของบริษัทในปีงบประมาณ 2563 หายไป 17% เมื่อเทียบกับรายได้ในปีงบประมาณ 2562 หรือลดลง 11,048 ล้านบาท

เครื่องบิน สนามบิน

จากสถานการณ์ที่แสนสาหัส ส่งผลให้นักวิเคราะห์บางค่ายถึงขั้นออกมาประเมินว่า ช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีงบประมาณนี้ ทอท. มีโอกาสขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และกำไรในปีงบประมาณ 2563 อาจลดลงถึง 99% จาก 2.5 หมื่นล้านบาท เหลือไม่ถึง 250 ล้านบาท

ด้าน ทอท. ได้ส่งหนังสือชี้แจ้งสถานการณ์เพิ่มเติมต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ว่า ทอท. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการประกอบกิจการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ทราบประมาณการรายได้ที่แน่นอน รวมทั้งจะดำเนินการด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การปรับลดค่าใช้จ่าย การเจรจากับกรมธนารักษ์เพื่อขอปรับลดค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ รวมทั้งการพิจารณาหารายได้ด้านอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินงาน จะชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นทราบต่อไป

การบิน ๑๙๐๒๒๕ 0039

ในส่วนของการเพิ่มรายได้นั้น จะเห็นได้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทอท. พยายามแตกไลน์ธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (Non-aero) เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์, ดิจิทัลแพลตฟอร์ม, โครงการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub) เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากจำนวนผู้โดยสาร

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา บอร์ด ทอท. ก็เพิ่งมีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อบริหารโครงการเกี่ยวกับสินค้าเน่าเสียง่ายภายในสนามบินสุวรรณภูมิ (Perishable Premium Lane : PPL) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Certify Hub โดย ทอท.จะถือหุ้น  49% และเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าวถือหุ้น 51% แต่กว่าธุรกิจใหม่เหล่านี้จะผลิดอกออกผลให้เก็บเกี่ยวได้ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ด้านการลดรายจ่ายนั้น ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ทอท. ได้รีดไขมันมาแล้วระดับหนึ่ง เพื่อช่วยประครองผลประกอบการในปีงบประมาณ 2562 เนื่องจากผู้โดยสารเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ จากนี้จึงต้องรอดูว่า ประเด็นใหญ่อย่างการเจรจาขอลดค่าเช่าพื้นที่ราชพัสดุของ 6 สนามบินกับกรมธนารักษ์จะออกมาในรูปแบบไหน

แม้ยังมองไม่ออกว่า ความพยายามของ ทอท. จะออกผลมากน้อยเพียงใด เพราะการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันคือทางเลือกเดียวที่ ทอท. ทำได้ในขณะนี้…

Avatar photo