General

‘กรีนพีซ’ ค้านไทยร่วม ‘CPTPP’  ชี้ทำลาย ‘อธิปไตย – ความมั่นคงทางอาหาร’

กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีปฏิเสธข้อเสนอการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) เพื่อรักษาสิทธิของเกษตรกรและสิทธิในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ คุ้มครองความมั่นคงทางอาหาร และปกป้องแหล่งอาหารของคนไทยจากการปนเปื้อนจีเอ็มโอ(GMO)

gp1

 

ความหลากหลายทางเมล็ดพันธุ์เป็นมรดกของโลก มิใช่ของคนใดคนหนึ่ง หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง การตัดสินใจของอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ในการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP จึงเป็นการทำลายความมั่นคง และความปลอดภัยทางอาหารของประเทศไทย

ข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป แต่กลับเพิ่มสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรนอกเหนือจากค่าเมล็ดพันธุ์

นอกจากนี้ข้อบัญญัติที่ระบุไว้ว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์” และตัดข้อกำหนดกระบวนการรับรองความปลอดภัยทางชีวภาพและการแสดงที่มาของสารพันธุกรรมสำหรับพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ประสงค์ขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้นเป็นการเปิดโอกาสให้นำพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปใช้ประโยชน์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการรับรองความปลอดภัย และสามารถนำกลับมาทำผลประโยชน์จากเกษตรกรและผู้บริโภคได้ เป็นการเปิดทางสะดวกให้กับความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคและความหลากหลายทางชีวภาพ

รากฐานของเกษตรกรรมไทยคือการรักษาพันธุ์พืชและส่งต่อเมล็ดพันธุ์ อันเป็นความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร ดังนั้น การเข้าร่วมภาคี CPTPP จึงเป็นการตัดสินใจที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารและเกษตร ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชน เพิ่มอำนาจการผูกขาดให้กับบริษัท ทำให้ประชาชนและเกษตรกรต้องจ่ายราคาสูงขึ้นให้กับพืชพรรณอาหารทั้งการปลูกและการกิน เป็นการทำลายวิถีชีวิต พันธุ์พืชท้องถิ่น และสามารถสร้างความเสียหายต่อระบบเกษตรกรรมและสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

การเก็บและส่งต่อพันธุ์พืชไม่ใช่และไม่ควรเป็นอาชญากรรม กรีนพีซขอเรียกร้องคณะรัฐมนตรีปฏิเสธข้อเสนอการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP โดยเร่งด่วนที่สุด

Avatar photo