COVID-19

How to? วิเคราะห์ความเสี่ยงออฟฟิศ สู่วิถีใหม่ สู้โควิด-19 ยาวๆ

“หมอแก้ว” วิเคราะห์ความเสี่ยงออฟฟิศเอกชน-ราชการ ปรับตัวสู่ New Norm แนะออกแบบระบบทำงานที่บ้านให้ถึง 70% ทบทวนพฤติกรรมการทำงาน เร่งวางระบบการเรียนการสอนสู่ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม” รับเปิดเทอม ย้ำโควิด-19 ยังอยู่อีกยาว ต้องรอวัคซีนป้องกันโรค

ANN 8742

หมอแก้ว หรือ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายบางส่วน แต่ทีมสอบสวนควบคุมโรค และทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง

และการที่ผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นคนวัยทำงานอายุ 20-29 ปี หรืออายุเฉลี่ย 39 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน หมอแก้ว แนะนำว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต้องปรับแนวทางการทำงาน ที่จะไม่เหมือนเดิม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในองค์กร อาทิ การทำงานจากบ้าน (Work from Home) ที่จะกลายเป็นความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยง โดยภาครัฐ ควรจะทำให้ได้ถึง 70%

ส่วนภาคเอกชน ต้องพิจารณาว่าจะปรับส่วนไหนได้บ้าง โดยควรต้องจัดให้เหลื่อมเวลาการทำงาน ตั้งแต่ 6.00-12.00 น.หรือชั่วโมงทำงานแต่ละวันที่ไม่เท่ากัน เช่น บางวันทำงาน 6 ชม. บางวัน 10 ชม. แต่เฉลี่ยได้ 8 ชม.ตามข้อกำหนด เป็นต้น และต้องยึดหลักเกณฑ์ลดการสัมผัส ไม่สร้างการรวมกลุ่ม ที่จะเสี่ยงติดเชื้อให้เกิดขึ้นได้อีก เพราะเรายังต้องอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด 19 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค

28Apr วิเคราะห์ความเสี่ยง 1

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องไม่เพียงแต่การเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร การออกแบบทางวิศวกรรม หรือสถาปัตยกรรม ที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันละอองฝอย ของสารคัดหลั่ง การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของวัสดุ ระบบคัดกรองคนทำงาน

และต้องออกระเบียบ รองรับให้คนทำงานสามารถหยุดงานได้ โดยไม่นับเป็นวันลาป่วย หากมีอาการเข้าได้กับโควิด เช่น ไข้ ไอ หรือแม้แต่ครั่นเนื้อครั่นตัว เพื่อไม่ให้ฝืนมาทำงาน  เพราะกลัวเสียวันลา รวมทั้งการเข้มงวดเรื่องสิ่งป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สิ่งเหล่านี้จะต้องทำให้เป็นมาตรฐาน

“ทุกกิจการ ที่จะเข้าสู่การผ่อนคลาย ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการควบคุมการติดเชื้อ และการป้องกันการแพร่กระจายเป็นสำคัญ “

นพ.ธนรักษ์ ยกตัวอย่าง หากเป็นออฟฟิศปิด ไม่ใช่ที่โล่ง อยู่กัน 100 คน ต้องมีการคัดกรอง และต้องใส่หน้ากาก ให้พนักงานพักอยู่บ้านเลย หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไอ หรือ ไข้  ไม่ว่าจะน้อยขนาดไหน แม้ครั่นเนื้อครั่นตัว วัดไข้ไม่ขึ้น ถือว่าไข้ ให้พักอยู่บ้าน ไม่ต้องมาทำงาน ไม่เช่นนั้นโอกาสแพร่ระบาดจะสูงมาก ต้องให้คนทำงานในออฟฟิศเบาบางที่สุด

ออฟฟิศต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะจะได้ประโยชน์ระยะยาว อย่าเสียน้อย เสียยาก เสียมากเสียง่าย เพราะหากมีคนไข้ 1 คน อยู่ในห้องประชุม แล้วไม่ทำความสะอาด เชื้ออยู่ในพื้นผิวได้นาน แม้คนนั้นจะกลับบ้านไปแล้ว แต่คนอื่นที่ใช้ห้องต่อ ติดเชื้อไปเรียบร้อยแล้ว ขอให้ทุกคนเข้าใจสภาพ และความเป็นไปได้ของการแพร่ระบาด อย่างที่เราบอกมาตลอดมีจำนวนถึง 80% ของคนติดเชื้อจะมีอาการน้อย มีเพียง 20% ที่อาการรุนแรง

นอกจากนี้ อีกประมาณ 2 เดือน ที่โรงเรียนจะกลับมาเปิดเรียนเป็นปกติ ยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยร่วมกันหลายส่วน แม้สถิติออกมาว่าเด็กไม่ค่อยแสดงอาการหากติดเชื้อ แต่ที่ห่วง คือ ครู อาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้สูงอายุในบ้าน หากเด็กรับเชื้อมาจากโรงเรียนแล้วมาแพร่ที่บ้าน จะเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ท้าทาย อาจถึงเวลา ที่ต้องมาวางแผน เรื่องการเปลี่ยนผ่าน “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม” เพื่อไปสู่วิถีใหม่ทั้งการทำงาน และการเรียนการสอนทางไกล ให้เกิดขึ้นได้จริง และเด็กๆต้องเข้าถึงได้ด้วย ย้ำว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน

Avatar photo