Business

เซอร์ไพรส์! อนาคตการบินไทย ภายใต้แผนฟื้นฟู -แกร่งเทียบเท่าเอกชน

เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทยฉบับคนร. เซอร์ไพรส์หนัก! เสนอผ่าตัดองค์กรใหม่เทียบเคียงเอกชน การบินไทยเป็นแค่”โฮลดิ้ง” แยกธุรกิจออกเป็น”บียู” เร่งหาพันธมิตรร่วมทุน พร้อมเปิด AOT  ถือหุ้นบริการภาคพื้น โละระบบเอเยนต์ขายตั๋วผ่านออนไลน์เท่านั้นลดการสูญเสียปีละ1-2 หมื่นล้าน   

คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟู บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI วันที่ 29 เมษายนนี้ หลังจากที่กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังได้ร่วมกันพิจารณากรอบแผนฟื้นฟูการบินไทยร่วมกันมาแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแผนฟื้นฟูของการบินไทยถือเป็นแผนฟื้นฟูที่คนร.จะต้องเร่งพิจารณา เนื่องจากสถานภาพของการบินไทยขณะนี้อยู่ในสภาวะการณ์ที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะในส่วนของเงินทุนหมุนเวียนกำลังจะขาดมือในเดือนพฤษภาคมนี้

ปกการบินไทย

การประชุมวันที่ 29 เมษายนนี้ ที่ประชุมคนร.จะต้องมีคำตอบให้การบินไทยว่า จะเดินหน้าอย่างไรกับแผนฟื้นฟูที่ดำเนินการมา  รวมทั้งการใส่เม็ดเงินเข้าไปก่อนในระยะสั้นอาจจะเป็น 10,000-15,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับที่ประชุม

ต้องยอมรับว่าขณะนี้การบินไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ มีปัญหาขาดทุนสะสม  ยังเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ต้องหยุดบิน ขาดเงินสดหมุนเวียนและมีปัญหาสภาพคล่อง ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการใดๆ กระแสเงินสดของการบินไทย ไม่นับรวมเครดิตไลน์ จะติดลบตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป

การบินๆไทย888
ภาพเฟซบุ๊ก:Thai Airways

“แผนฟื้นฟูการบินไทยรอบนี้ มีความแตกต่างไปจากแผนฟื้นฟูที่เคยดำเนินการมาเกือบทั้งหมด เป็นแผนที่ทำให้การบินไทยเป็นองค์กร ที่สามารถแข่งกับสายการบินอื่นได้  ขนาดขององค์กรจะเล็กลงกว่าเดิม แต่จะมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจเทียบเท่าเอกชน” แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวกับ “TheBangkokInsight” และว่าหากคนร.อนุมัติแผนฟื้นฟูการบินไทยก็สามารถเพิ่มทุนได้ ซึ่งจะอยู่ในวงเงินประมาณ 60,000 -70,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังต้องการ

สำหรับแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่เสนอให้คนร.พิจารณามีหลายประเด็น มีทั้งในส่วนของ แผนหารายได้ แผนลดรายจ่าย แผนขายกิจการ แผนหาพันธมิตรร่วมทุน แผนแยกหน่วยธุรกิจ หรือ Business unit  แผนการจำหน่ายตั๋วและช่องทางการขาย แผนลดขนาดองค์กร แผนลดบุคคลากร เป็นต้น

ตามแผนฟื้นฟูการบินไทยที่จัดทำขึ้นจะทำให้การบินไทยเติบโตในอนาคต โดยการแยกหน่วยธุรกิจที่การบินไทยมีอยู่ โดยเฉพาะบียูที่ยังสามารถสร้างมูลค่าและเติบโตได้ในอนาคต ซึ่งการบินไทยจะต้องเปิดหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนในแต่ละบียู

การบินไทย55
ภาพเฟซบุ๊ก:Thai Airways

ในส่วนของ การบริการภาคพื้น ของการบินไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิ  ตามแผนฟื้นฟู มีการเสนอให้ บริษัทท่าอากาศยานไทน จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เข้ามาถือหุ้น เพราะเป็นส่วนงานอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิอยู่แล้ว ต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมเป็นบียูๆไป “การแยกธุรกิจออกเป็นบียู พร้อมหาผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามาเพิ่มทุนในแต่ละบียู ซึ่งแต่ละบียูก็จะมีผู้ร่วมทุนที่ต่างกัน วิธีการอย่างนี้ก็จะช่วยลดภาระการบินไทย แต่กลับทำให้การบินไทยแข็งแรงขึ้นมากกว่า”  

ส่วนบียูไหนที่การบินไทยแข็งแรง และทำรายได้ดี มีกำไร การบินไทยไม่จำเป็นต้องเปิดให้พันธมิตรเข้าร่วม เช่น ฝ่ายครัวการบิน ตรงนี้การบินไทยมีความสามารถดำเนินการเองได้อยู่แล้ว ตามแผนฟื้นฟูใหม่การบินไทยเป็นเพียงบริษัทแม่หรือโฮลดิ้งเท่านั้น

เช็คดอิน
ภาพเฟซบุ๊ก:Thai Airways

ขณะเดียวกัน ตามแผนฟื้นฟูการบินไทยใหม่ ที่จะต้องดำเนินการนั่นคือ ระบบการจำหน่ายตั๋ว ตามแผนฟื้นฟูได้กำหนดให้ใช้ระบบที่เป็นสากลที่ทั่วโลกใช้กันมากขึ้น โดยเฉพาะการ ซื้อขายผ่านออนไลน์ แต่ปัจจุบันการบินไทย ยังจำหน่ายตั๋วเน้นผ่านเอเย่นต์มากกว่าผ่านออนไลน์ การขายตั๋วผ่านระบบเอเย่นต์ทำให้การบินไทยเกิดความเสียหายปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 -20,000 ล้านบาท  แผนฟื้นฟูใหม่ต้องยกเลิกระบบเอเย่นต์หันไปใช้ระบบออนไลน์แทน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญภายใต้แผนฟื้นฟูใหม่ ซึ่งองค์กรการบินไทยจะไม่เหมือนเดิม แต่จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีความคล่องตัวมากขึ้น ตามแผนฟื้นฟูการบินไทยรอบนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะทำให้การดำเนินธุรกิจสามารถเทียบเท่าหรือแข่งกับเอกชนได้ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงการบินไทยที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของคนร.ที่จะต้องอธิบายการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการผ่าตัดครั้งใหญ่ของการบินไทย

 

ในส่วนของการ ปรับจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับจำนวนฝูงบินที่ลดลง และเปรียบเทียบ Productivity กับสายการบินชั้นนำ โดยลดจำนวนพนักงานด้วยความสมัครใจ ตามเกณฑ์ที่กำหนด ลดจำนวนพนักงานด้วยเกณฑ์ที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพการปฎิบัติงานของพนักงาน  รับพนักงานใหม่มาทดแทนในสัดส่วนที่เหมาะสมตามมาตรฐานอุตสาหกรรม

การบินไทย11
ภาพเฟซบุ๊ก:Thai Airways

ปรับประสิทธิภาพและค่าตอบแทน ให้พนักงานที่มีรายได้ทั้งหมดรับภาระภาษีเงินได้เอง  ทบทวนเกณฑ์และวิธีการคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลา (Overtime) ทบทวนเกณฑ์และอัตรค่ายานพาหนะ/ค่าพาหนะเหมาจ่าย ทบทวนสิทธิบัตรผู้โดยสารพนักงานโดยเทียบเคียงกับสายการบินอื่น กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินประจำตำแหน่ง ทบทวนวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดพักผ่อนประจำปีและการสะสม ทบทวนประเภทและอัตราเงินเพิ่มพิเศษต่างๆ อาทิ License และอื่นๆ ทบทวนสิทธิประโยชน์สำหรับพนักงานที่ปฎิบัติหน้าที่ประจำต่างประเทศ (Expatriate Staff ) ทบทวนสิทธิประโยชน์พนักงานเกษียณอายุ

สำหรับผู้ถือหุ้นการบินไทย ปัจจุบันที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย

Thai27

 

กระทรวงการคลัง ถือหุ้น  51.03%

กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น  7.56%

กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 7.56%

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้น 3.28%

ธนาคาร ออมสิน ถือหุ้น  2.13%

SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED  ถือหุ้น 1.51%

นายทรงศักดิ์ จิตเจือจุน ถือหุ้น  1.31%

นายเอี่ยม อาชวกุลเทพ ถือหุ้น  0.78%

STATE STREET EUROPE LIMITED ถือหุ้น  0.65%

นายวิชัย คณาธนะวนิชย์ ถือหุ้น  0.61%

EAST FOURTEEN LIMITED-DFA EMERG MARKET CORE EQ PORT ถือหุ้น  0.53%

Avatar photo