COLUMNISTS

‘อาหาร-กฎหมาย-ระบบบริหารจัดการ-พลังใจ’ ช่วยผู้ด้อยโอกาส

โค้ชผู้บริหาร -พาร์ทเนอร์ สลิงชอท กรุ๊ป
44

ผู้อ่านคงสงสัยว่าเรื่องเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ประมาณการกันว่าในแต่ละปี 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลกถูกทิ้งแบบเสียเปล่าจากการขายไม่ทัน หรือใช้ไม่ทัน และต้องทิ้ง คิดเป็นมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ (33 ล้านล้านบาท) หรือเกินกว่า 2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยทั้งประเทศ

Hands donating food

ประเทศที่ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกคือ สหรัฐ เพียงประเทศเดียว ทุกๆ ปีทิ้งอาหารไป 40% ของอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมดโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

การทิ้งอาหารไปโดยสูญเปล่า เกิดขึ้นในขณะที่ประชากรโลกหลายร้อยล้านคนยังมีอาหารไม่พอกิน นอกจากนี้เมื่ออาหารที่เสียเปล่าทั้งโลกเน่าเปื่อย ก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาอีกเป็นปริมาณมากมาย มากกว่าก๊าซเรือนกระจกที่หลายๆ ประเทศผลิตออกมาเสียด้วยซ้ำ (ยกเว้นสหรัฐ และจีน)

บางประเทศในยุโรปเริ่มหันมาเอาจริงเอาจังกับการลดปัญหาอาหารถูกทิ้งไปโดยสูญเปล่า

ฝรั่งเศสดูเหมือนจะเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุด โดยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาได้ใช้เครื่องมือด้านกฎหมายในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และครอบคลุม เช่น กำหนดให้ธุรกิจที่สร้างขยะอินทรีย์เกินปีละ 120 ตัน ต้องมีระบบทำลายขยะแบบหมุนเวียน (Recycling)

ในปี 2016 ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายห้ามร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ทิ้งอาหารที่ขายไม่ทัน หรือใกล้วันหมดอายุ (ซึ่งเดิมจะต้องถูกทิ้งไปเฉยๆ) แต่จะต้องบริจาคอาหารเหล่านั้นให้แก่ธนาคารอาหาร หรือองค์กรการกุศลที่สามารถนำอาหารเหล่านั้นไปใช้เลี้ยงคนที่ไม่มีข้าวจะกินได้แทน

543ed23b6da8118345f8c041 750 563

ส่วนในสหรัฐ หากคุณหรือบริษัทบริจาคอาหารให้ใคร แล้วเขาเกิดป่วยหรือเสียชีวิตจากอาหารที่คุณบริจาค คุณอาจจะมีความผิดตามกฎหมาย ความเสี่ยงนี้ทำให้ธุรกิจเลือกที่จะตัดความเสี่ยง และทิ้งอาหารดีๆ ไปแทนที่จะบริจาค

ในขณะที่กฎหมายของสหรัฐเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายอาหารเหลือใช้ไปสู่ผู้ด้อยโอกาส ก็มีองค์กรไม่หวังผลกำไรหลายกลุ่มทั้งเล็กและใหญ่ไม่ยอมแพ้ต่อข้ออุปสรรคทางกฎหมาย และยังทำงานอย่างหนัก เพื่อให้เกิดการนำเอาอาหารที่ยังมีคุณภาพดีแต่กำลังจะถูกทิ้งไปสู่ผู้หิวโหย

มีบางองค์กร (เช่น City Harvest) ยังพยายามเพิ่มคุณภาพของอาหารบริจาคโดยพยายามให้เกิดการบริจาค และเคลื่อนย้ายอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งอาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารกระป๋อง หรืออาหารแห้ง และคุณค่าทางโภชนาการต่ำ

นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เช่นการนำเอา Platform Application ชื่อ Meal Connect มาใช้เชื่อมโยงผู้บริจาคซี่งเป็นธุรกิจรายย่อย เช่นร้านอาหารที่กระจัดกระจายและมีอาหารสดที่จะถูกทิ้งไปวันละมาก ๆ เข้ากับเครือข่ายในการกระจายอาหาร ที่ได้รับบริจาคมาอย่างรวดเร็ว ก่อนที่อาหารสดจะเสีย

การผลักดันการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นในระดับที่น่าพิศวงนี้ มีหัวใจสำคัญคือแรงบันดาลใจของคนที่ทำงานในองค์กรเครือข่ายเหล่านี้อย่างทุ่มเท ประกอบกับมีองค์กรขนาดใหญ่คือ Feeding America ที่สามารถรวบรวมทรัพยากร เชื่อมโยงเครือขายของผู้สนับสนุนถึง 60,000 กว่าองค์กรเข้าเป็นเครือข่ายขนาดมหึมา

feeding america

อีกทั้งนำองค์ความรู้และความร่วมมือของเครือข่ายย่อย ๆ เช่น ธนาคารอาหาร 200 กว่าแห่งที่กระจายอยู่ทั่วสหรัฐ ซึ่งบางแห่งมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนอาหารสดมาก่อน จนสามารถจัดตั้งระบบบริหารจัดการ จ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางซัพพลายเชน รวมทั้งจัดหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ที่ดีขึ้นมากๆ ในการเคลื่อนย้ายอาหารจากผู้บริจาคไปถึงมือผู้รับ

เขียนเรื่องนี้แล้วรู้สึกทึ่งกับพลังใจของคน และพลังของระบบบริหารจัดการในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม