COVID-19

‘หมอธีระ’เตือนโควิด-19 พุ่งแน่ หลังปลดล็อก 7-10 วัน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับการระวังการปลดล็อค และเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 มีเนื้อหาระบุว่า

บอกตรงๆ ว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่เราจะเห็นคลื่นระลอกที่ 2 ตามมา หลังจากการปลดล็อค ในลักษณะคล้ายสิงคโปร์และญี่ปุ่นผสมกัน

ถามว่าเหตุใดจึงมีความเห็นเช่นนั้น

กราฟฟิกหมอธี

สิงคโปร์ระบาดหนักระลอกสอง เน้นเกิดในกลุ่มที่เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศ

ญี่ปุ่นระบาดหนักระลอกสอง เน้นเกิดในกลุ่มที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ทั้งจากการทำงานและชีวิตส่วนตัว

หากมองอนาคตอันใกล้ จากข่าวสารที่ฟังจากสื่อสังคม เกี่ยวกับแนวทางการปลดล็อคที่หลายฝ่ายกำลังชงและผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตด้านการกิน การช็อป เสริมสวยตัดผม ท่องเที่ยว ตลอดจนการเปิดกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม

แนวทางดังกล่าวต้องรอบคอบอย่างยิ่ง หากตัดสินใจเปิดเร็วโดยไม่พร้อม เราจะเจอทั้งการระบาดในกลุ่มคนงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานทั้งในโรงงาน ก่อสร้าง และงานบริการหลากหลาย

กราฟิกหมอธี1

ยิ่งหากดูตัวเลขที่รัฐประกาศวันนี้ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นเป็น 53 คน ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็น active case finding ซึ่งแปลว่ามุ่งเป้าไปเสาะหาหรือตรวจหาก็ตาม แต่สุดท้ายคนกลุ่มใหญ่ที่เจอวันนี้คือ กลุ่มคนต่างด้าวนั่นเอง

ในขณะเดียวกันการติดเชื้อจากการใช้ชีวิต ทั้งที่ทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัวนั้น แน่นอนว่ายิ่งอยู่ในเมือง ยิ่งแออัด ยิ่งเสี่ยงสูง เชื่อขนมกินได้เลยว่า ไม่ว่าจะพลิกมองมุมใด จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หลังปลดล็อคราว 7-10 วัน

หมอธี44

สิ่งที่เราพอจะทำกันได้คือ

หนึ่ง รัฐควรหน่วงเวลาการปลดล็อค ให้มีจำนวนเคสน้อยๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ คำแนะนำของผมยังคงเดิมคือ ดีเดย์ปลดเมื่อแตะ 5% ราวกลางเดือนพฤษภาคม เพราะ ณ ตอนนั้น เคสหลงเหลือที่ต้องการการดูแลรักษาในโรงพยาบาลจะเหลือน้อยลงมาก ทำให้ระบบสาธารณสุขมีเวลาพัก และเตรียมรับระลอกสอง รวมถึงมีช่วงเวลาในการเคลียร์ ชดเชยระบบดูแลรักษาคนไข้โรคอื่นๆ ให้ลงตัว

หมอธี2

สอง คนที่อาศัยอยู่ในเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ จง “Keep low profile” หากทำได้

กล่าวคือ ยังยืดหยัดที่จะอยู่นิ่งกับที่ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ทำงานที่บ้านให้มากๆ ไปที่ทำงานน้อยๆ เน้นการทำงานติดต่อทางออนไลน์

หากต้องออกจากบ้าน ต้องใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างจากคนอื่นๆ และรีบทำธุระให้เสร็จโดยเร็ว

สรุปคือ ทำตัวให้เป็นไปตาม New Normal = New “Me” จนเป็นนิสัย ฝึกตัวเราและสอนลูกหลานให้ทำ เพราะจะอยู่รอดได้อีกเป็นปีต้องมีพฤติกรรมอย่างนี้

ข้อสองนี้มีไว้เพื่อรักษาตัวเองและครอบครัวของคนที่ยังนิ่งได้ ให้อยู่รอดปลอดภัย เพื่อคอยช่วยเหลือคนในสังคมที่ไม่มีทางเลือกแล้วเกิดได้รับเชื้อมาหลังปลดล็อคในอนาคต ซึ่งจะมากแค่ไหน จะน้อยกว่า เท่ากับ หรือมากกว่าสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นนั้น ไม่มีใครตอบได้

จากข้อมูลที่เราเห็น ตอบได้ว่ามีโอกาสสูงแน่ๆ แต่ความเห็นส่วนตัวน่าจะเป็นแนวโน้มน้อยกว่าหรือเท่ากับสองประเทศนั้น เพราะความหนาแน่นประชากรของเราน้อยกว่าเค้าอยู่บ้าง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight