Opinions

ชวนคิดโลกหลัง ‘โควิด-19’ (ตอนจบ)

Avatar photo
340

ด้านความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข (Food and Health Security)

โลกหลังโควิดคงเน้นความเพียงพอของอาหารมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ WHO, FAO, และ WTO ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ห่วงใยการขาดแคลนอาหารในโลก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปิดพรมแดนจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ทำให้การขนส่งอาหารถูกกระทบ จากปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

ผมจึงคิดว่าหลังโควิด-19 เรื่องอาหารจะเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นจริงๆ ประเทศไทยจึงมีสถานะที่ดี มีข้อได้เปรียบหลายชาติ เพราะเรามีแหล่งอาหารที่มากมาย แทบจะเป็นคลังอาหารของโลก แต่เราเองก็คงจะต้องดูแลให้อาหารเพียงพอต่อคนในประเทศก่อน ให้พอเพียง ยืนบนขาตัวเองได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าคนมี คนจน ไม่ว่าคนตกงานหรือคนมีงานทำ ไม่ว่าคนที่ธุรกิจต้องเสียหาย หรือคนที่ธุรกิจใหม่ๆ เฟื่องฟู ต้องมีอาหารกินเพียงพอ และปลอดภัย ต้องมีการผลิตอาหารที่ทันสมัย มีผลิตผลที่ดี ถึงเวลาแล้วที่เราจะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางไว้ มาประยุกต์ใช้ ทำทุกอย่างอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล มีความรู้ ไม่ทำอะไรที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไปจนไม่มีภูมิคุ้มกันยามวิกฤต ให้เรายืนบนขาตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้ในการผลิตอาหาร และการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ มีความเพียงพออย่างพอเพียง จากนั้นจึงส่งออก ค้าขายกับนานาประเทศ

ความมั่นคงทางอาหารยังเกี่ยวโยงกับความมั่นคงทางสุขภาพ สาธารณสุข เช่น เรื่องการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย อาหารปลอดสารพิษ อาหารที่เสริมภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค อาหารที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง อาหารที่ฟื้นฟูสุขภาพ อาหารที่กระบวนการผลิตปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีที่อันตรายต่างๆ เหล่านี้ที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องมีการศึกษา การวิจัย การเรียนการสอน การปฏิบัติ การรับเอานวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้อย่างมากในเวลาอันสั้น เรื่องเทคโนโลยีการผลิตยา วิตามิน เวชภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ น่าจะเป็นทิศทางของกิจกรรมทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ประเทศต่างๆ คงพัฒนานักเทคโนโลยีของตนให้มากที่สุด

ประเทศไทยเองก็คงต้องสร้างระบบนิเวศน์ในการสร้างนวัตกรรม (Eco-System for Innovation) ของคนไทย ที่ชักชวนให้แรงจูงใจคนให้มาร่วมคิดร่วมประดิษฐ์ ร่วมพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งยาป้องกันโรค ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เรา มีประสบการณ์แล้วว่าที่ผ่านมายามคับขันเขาขาดแคลนอะไร เพียงใด และเราควรส่งเสริมนักเทคโนโลยีไทยอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสาธารณสุข

นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์ของข้อมูลสถิติ (Data Science) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะช่วยหาคำตอบในเรื่องต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการคาดการณ์และเข้าใจการระบาดของโรค การแก้ไขการระบาด และระบบการติดตามผู้อาจติดเชื้อ (Test and Trace) เป็นข้อมูลใหญ่ที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง (Big Data Analytic) ซึ่งในอดีตหลายประเทศอาจไม่ได้ให้ความสำคัญพัฒนาระบบเหล่านี้ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าจะมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน

การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน

จากการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการปิดสถานที่ต่างๆ ตามมาตรการสาธารณสุขในเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก (ถ้ารวมเขตปกครองพิเศษต่างๆ ก็จะถึง 210 แห่ง) ทำให้เทคโนโลยี เข้ามาบงการชีวิตคนอย่างไม่มีทางเลือก ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม

การเรียนการสอนออนไลน์ การประชุมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมผ่านระบบทางไกล เช่น วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การซื้อของ การสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะลาซาด้า ช้อปปี้ ไลน์แมน แกร็บ ฟู้ดแพนด้า เก็ท หรือการใช้เทคโนโลยีในบริการทางการเงินที่เต็มรูปแบบยิ่งขึ้นเป็นต้น ก็กลายเป็นวิถีชีวิตของคน รวมทั้งคนไทยไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันการขนส่ง ส่งมอบสินค้าที่สั่งออนไลน์ (Delivery Service) ก็กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วและต้องการคนทำงานมากขึ้นอย่างมาก

ที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่อาชีพไม่เอื้ออำนวยให้ใช้เทคโนโลยีที่มาแทนการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น การนวดเพื่อสุขภาพ กายภาพบำบัด คนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น รวมทั้งคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้ฝึกทักษะเตรียมพร้อมไว้ก่อน กลุ่มคนเหล่านี้ เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่แต่ละสังคมต้องมีกระบวนการเพิ่มทักษะ ปรับปรุงทักษะ (Re-Skill และ Up-Skill) ในการทำงานใหม่ๆ ที่เขาต้องการและการเยียวยาช่วยเหลืออาชีพที่อาศัยเทคโนโลยีมาช่วยไม่ได้อย่างเร็วที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ธุรกิจบริการที่สนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก มีการเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เกิดขึ้นหลายระบบในเวลาอันสั้น และจะมีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ความจำเป็นในการเดินทางในธุรกิจระหว่างประเทศลดลง

เทคโนโลยีในชีวิตของโลกหลังโควิค คงไม่กลับมาสู่ระดับการใช้เทคโนโลยีก่อนโควิดอีกแล้ว แต่จะไปไกลขนาดไหน เทคโนโลยีออนไลน์จะกระทบอาชีพใดบ้าง กระทบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อาชีพอิสระ อาคารสำนักงานจะกระทบธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว, การเดินทางมากขนาดไหน จะมีรูปโฉมแตกต่างไปอย่างไร คงต้องชวนคิดกันต่อไปครับ

เศรษฐกิจ

ผมคงไม่ต้องชวนคิดอะไรมาก เพราะมีผู้สันทัดกรณีนี้ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 และหลังโควิด-19 กันมามากแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่น่าคิดเพิ่มเติมคือ ถ้าปัญหาการระบาดของโควิด-19 เนิ่นนานกว่าที่คิด และคนตกงานมากกว่าที่ประมาณการ ธุรกิจเสียหายมากกว่าที่คิด สังคมในแต่ละประเทศจะเริ่มเดินถึงจุดที่ “ความกลัวความอดอยากจะชนะความกลัวการติดโรค” คือคนจะออกมาทำงาน ไม่กลัวติดเชื้อ ไม่ฟังมาตรการของรัฐ ดังนั้นรัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องหาสมดุลระหว่างการรักษาระยะห่างทางสังคม กับการพยุงเศรษฐกิจของคนกลุ่มต่างๆ ให้พอเหมาะพอเพียง อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่อดตายและไม่ติดโรคไปพร้อมๆ กัน

การทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อพยุงภาคเอกชนและเยียวยาบุคคลต่างๆ ทำให้รัฐต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งในอนาคตอันใกล้ รัฐต่างๆ ก็จะต้องคิดวิธีหาเงินเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ใช้ไป หรือชำระเงินกู้กรณีที่กู้เงินมา บางรัฐบาลอาจต้องขึ้นภาษีแต่จะขึ้นภาษีอย่างไรที่จะไม่ซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว บางรัฐบาลต้องเฉือนงบการพัฒนาที่อาจจำเป็นในยามปกติ มาใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งก็จะทำให้หลายประเทศที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือพัฒนาการศึกษาให้ทันโลก ต้องสะดุดหยุดอยู่ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่เพราะขาดงบประมาณ และผลที่จะตกต่อสังคมนั้นคืออะไร

บทส่งท้าย

ความจริงยังมีอีกหลายอย่างที่จะเปลี่ยนไป มีผู้รู้เห็นกันว่า การใช้คำว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อใด ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะ “การฟื้นตัว” (Recovery) มักหมายถึงฟื้นกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนการล้มลุกคลุกคลาน แต่สถานการณ์โควิด-19 นั้นหนักหนากว่าวิกฤตทางการระบาดของโรค และหนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจทุกครั้งที่ผ่านมา

ดังนั้น การฟื้นตัวคงเป็นการปรับตัวไปข้างหน้า ไม่ใช่กลับไปสู่สถานะเดิม เป็นข้างหน้าที่ไม่เหมือนเมื่อวาน เป็นพรุ่งนี้ที่ได้แต่คาดเดา…

ให้ความเปลี่ยนแปลงผลักมนุษย์เราไปเรื่อยๆ เป็นชีวิตที่เปลี่ยนไป เป็นสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป และการบริหารรัฐที่ต้องเปลี่ยนไป ผู้ใดไม่ปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนไม่ทัน ก็จะถูกธรรมชาติบังคับให้เปลี่ยน หรือมิฉะนั้นก็จะถูกทิ้งไว้ที่ชานชาลา เพราะไม่มีตั๋วขึ้นรถไฟสายหลังโควิด!

ในอนาคตหากคิดประเด็นชวนคิดได้อีก ก็จะมาขอเชิญชวนท่านทั้งหลายช่วยกันคิดเพื่อการเตรียมความพร้อมของทุกองคาพยพในสังคมไทย สู่สังคมที่เราปรับตัวได้อย่างเพียงพอ โดยการมีสัมมาสติที่จะดำรงตนรอบด้านอย่างพอเพียงครับ

HON 0331

บทความโดย ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย