COLUMNISTS

ประชารัฐ หรือ ประชานิยม

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
502

ระยะหลังได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อธิบายถึงความหมายและความต่างระหว่าง ประชารัฐ กับ ประชานิยม ถี่ขึ้น

py56

วันก่อน นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาในงาน “การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสังคมในยุค 4.0” ได้กล่าวตอนหนึ่งว่าตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลทำงานหนัก กว่าจะมีวันนี้ ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาและอุปสรรคเก่าให้ผ่านพ้นไปให้ได้ และต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการปฏิรูป เพราะจะเป็นประเทศไทย 4.0 ช่วยกันทำสิ่งที่เกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้หายไปในรูปแบบ ประชารัฐ

พร้อมกับอธิบายความหมายของไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชารัฐ ด้วยว่า ต้องสร้างความสมดุลให้ทุกกลุ่ม สร้างคุณธรรม จริยธรรม เผื่อแผ่ แบ่งปัน อยากเห็นสังคมไทยมีความสุข ประชาชนมีความคิด รักสามัคคี ปรองดอง ทุกคนต้องเท่าเทียมสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นายกฯ ยังกล่าวด้วยว่าตอนนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการทำกฎหมายประชารัฐสวัสดิการเพื่อให้การทำงานเป็นระบบ โดยระบบสวัสดิการของประชาชนในภาพรวมรัฐบาลใช้งบ 40 % ของงบประมาณฯรวม ในการดูแล และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่ใช่ระบบประชานิยมที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นฝากให้คิดด้วย ทำอย่างไรให้งบประมาณเพิ่มขึ้น

นโยบายประชานิยม ถูกกล่าวถึงครั้งแรก ในแวดวงการเมืองไทย หลังอดีตนายกฯทักษิณ นำเสนอชุดนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค พักหนี้เกษตรกร บ้านเอื้ออาธร ฯลฯ ในการเลือกตั้งปี 2544 ก่อนพรรคไทยรักไทย คว้าชัยเหนือพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์

ตอนนั้นนักวิชาการแนวหน้าของสังคมไทยจำนวนหนึ่ง ลุกขึ้นมาให้คำจำกัดความชุดนโยบายดังกล่าวว่าเป็น “ลัทธิประชานิยม” โดยเทียบเคียงกับนโยบายประชานิยม ของรัฐบาลฮวน เปโรน (สามีอีเวตา เปโรน) อดีตประธานาธิบดี 3 สมัยของอาร์เจนตินา ที่นำประเทศที่เคยถูกคาดหมายว่าจะรุ่งเรืองสุดในอเมริกาใต้ ไปสู่ความล่มสลายและยังส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

จำได้ว่า อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี เคยวิจารณ์ชุดนโยบายของรัฐบาลทักษิณว่า กำลังเปลี่ยนชาวบ้านเป็นผู้บริโภค ส่วน อาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ชี้ว่าแนวประชานิยมของทักษิณใกล้เคียงกับประชานิยมลาตินอเมริกา ที่โดดเด่นในการใช้งบประมาณสร้างความนิยม โดยไม่คำนึงถึงวินัยการคลังและผูกโยงกับบารมีของผู้นำ

แม้ถูกโจมตีอย่างหนักแต่ อดีตนายกฯทักษิณ ไม่คิดเปลี่ยนแนว การเลือกตั้งครั้งต่อมา ประชานิยมถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง และสามารถสร้างประวัติศาสตร์การเมืองอีกครั้ง เมื่อไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งซ้ำในปี 2548 เป็นการตอกย้ำพลังของประชานิยม

การเลือกตั้ง 2 ครั้ง หลังการรัฐประหารในปี 2549 อดีตนายกฯทักษิณ ผู้อยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชาชน ปลุกนโยบายประชานิยมกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งในปี 2554 ที่ประชานิยมมาแบบจัดเต็ม ทั้งนโยบายประกันราคาข้าวเปลือกทุกเมล็ด เกวียนละ 15,000 บาท (สูงกว่าราคาตลาดโดยเฉลี่ย 40 %) ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ฯลฯ นำทาง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปสู่ทำเนียบรัฐบาล

000 9V3YB

ก่อนที่นโยบายรับจำนำข้าวฯ จะพ่นพิษ ดูดงบประมาณจนเสี่ยงต่อฐานะการคลัง เปิดช่องทางรั่วไหล สร้างความเสียหายแก่รัฐไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท และเป็นเหตุให้ชะตากรรมยิ่งลักษณ์พลิกผัน จากนายกฯหญิงคนแรกของไทย ไปสู่จำเลยในคดี ปล่อยปละละเลยจนโครงการรับจำนำข้าวฯสร้างความเสียหายแก่รัฐ ก่อนหนีคดีออกนอกประเทศ เพียงหนึ่งวันก่อนศาลอ่านคำพิพากษาได้อย่างเหลือเชื่อ

ในสายตาของนักวิชาการ ทั้งสายสังคมและเศรษฐศาสตร์มองว่า ประชานิยม คือนโยบายที่ขาดความรับผิดชอบ เพราะแก่นแกนหลักของประชานิยมคือ ใช้เงิน(งบประมาณฯ) ผลิตนโยบายสร้างความนิยม กับ ประชาชนรากหญ้า เพื่อเป็นฐานเสียงทางการเมืองของตัวเองหรือพรรคมากว่าสร้างความยั่งยืน

ส่วนโครงการประชารัฐเป็นการดูแล กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ผ่านกลไกความร่วมมือของ รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ฯลฯผ่าน โครงการต่างๆอาทิ โครงการสินเชื่อประชารัฐ โครงการธงฟ้า โครงการที่อยู่อาศัย โดยอาศัยผู้ลงทะเบียนคนจนราว 11 ล้าน คน เป็นฐานในการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นอีกจุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ชี้ว่าประชารัฐ ต่างจาก ประชานิยม

เช่นเดียวกับประชานิยมที่มีผู้เห็นต่าง ประชารัฐที่กลไกมีเอกชนเข้าร่วม ถูกมองจากนักวิชาการกลุ่มหนึ่งว่าเอื้อนายทุนใหญ่

20180117030716 m

ไม่ว่าประชานิยมจะถูกมองเหมือนปีศาจทางการเมือง หรือเป็นพลังของด้านมืด ที่ไม่ควรถูกปลุกขึ้นมาอีก และอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จะเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยลืมอดีตนายกฯทักษิณเสีย และ เร่งศึกษานโยบายของทหารให้ถ่องแท้ เพื่อนำมากำหนดแนวทางรับมือ แต่การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นต้นปีหน้า พรรคเพื่อไทยคงชูประชานิยมโดยทักษิณ ขึ้นมาต่อกรกับประชารัฐของพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ดี

แบบไหนจะดี ต่อบ้านเมืองในระยะยาว หากใช้เหตุใช้ผล คงแสวงหาคำตอบกันได้ แต่การเมืองเป็นเรื่องของ ความเชื่อและความรู้สึก เมื่อประชารัฐ กับ ประชานิยม ถูกดันขึ้นไปประชันบนเวทีการเมือง ใจของประชาชนจะเป็นผู้ชี้ขาด