World News

นาซาส่งยานอวกาศมุ่งตรงดวงอาทิตย์ ศึกษา ‘พายุสุริยะ’

องค์การบริหารการบิน และอวกาศสหรัฐ (นาซา) ปล่อยยานอวกาศมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ เดินทางไปยังดวงอาทิตย์ เมื่อเวลา 03.31 น วันนี้ (12 ส.ค.) ตามเวลาในสหรัฐ เพื่อปฏิบัติภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ เปิดเผยความลับของพายุสุริยะ เพื่อปกป้องโลก

000 18B6C6

หลังการปล่อยตัวออกจากฐานส่งจรวดแหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดาได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง คณะผู้จัดการภารกิจนี้ ก็ได้ออกมายืนยันว่า ยานอวกาศได้แยกตัวออกจากจรวดนำส่งตามแผนการที่วางไว้แล้ว และมุ่งหน้าไปตามเส้นทางการบินอย่างเรียบร้อย

การปล่อยยานอวกาศไร้คนขับครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจในการเดินทางไปยังศูนย์กลางของระบบสุริยะที่คืบหน้าไปมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีเป้าหมายของการเดินทางอยู่ที่การเข้าไปในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ ที่รู้จักกันในชื่อโคโรนา ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินภารกิจนาน 7 ปี

ยานอวกาศลำดังกล่าว ถูกปกคลุมด้วยเกราะป้องกันความร้อนในระดับสูงเป็นพิเศษ ที่สามารถทนต่อระดับความร้อนได้มากเป็นประวัติการณ์ และรับมือกับปริมาณรังสีได้มากกว่าระดับรังสีที่อยู่บนโลกถึง 500 เท่า

แม้นาซาจะระบุถึงภารกิจนี้ว่า เป็นยานอวกาศลำแรกที่สามารถ “แตะดวงอาทิตย์” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระยะที่ยานอวกาศลำนี้ สามารถเข้าไปได้มากสุด คืออยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ราว 6.16 ล้านกิโลเมตร แต่ก็ใกล้มากพอที่จะศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ลมสุริยะ และชั้นบรรยากาศดวงอาทิตย์ ที่มีความร้อนสูงกว่าพื้นผิวของดวงอาทิตย์ถึง 300 เท่า

การศึกษาของยานอวกาศที่มีขนาดเท่ารถยนต์ลำนี้ จะทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับลมสุริยะ และพายุแม่เหล็ก ที่มีความเสี่ยงจะสร้างความวุ่นวายให้กับโลก ด้วยการทำให้ระบบการส่งกระแสไฟฟ้าหยุดทำงาน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight