Business

วิธีอ่านงบการเงินกับ 5 เรื่องสำคัญที่ต้องรู้

เริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศงบการเงินประจำไตรมาสแรกของปี 2563 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กันแล้ว ซึ่งโดยปกติจะเริ่มด้วย Financial-Sector อย่างกลุ่มธนาคาร ประกันชีวิต และสินเชื่อบุคคล หลังจากนั้นถึงจะเป็น Real-Sector ที่ค่อยๆ ทยอยตามมา 

การดูงบการเงิน พูดง่ายๆ ก็เหมือนการตรวจสุขภาพธุรกิจ ซึ่งเราควรตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุกไตรมาส ว่าตอนนี้ธุรกิจนั้นๆ ภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งสถาณะการเงิน ผลประกอบการ รวมถึงแนวโน้มการเติบโตในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์งบการเงินมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หลายอย่างที่ยากต่อความเข้าใจ เอาเป็นว่า…ใครที่ยังไม่รู้จะเริ่มจับจุดจากตรงไหน วันนี้เรามีวิธีอ่านงบการเงินคร่าวๆ มาฝาก เพราะหากยังไม่เข้าใจงบการเงิน ก็ไม่ควรตัดสินใจซื้อหุ้นเด็ดขาด

โครงสร้างงบการเงิน สามารถแบ่งเป็น 5 ส่วนหลัก ดังนี้

งบการเงิน

 

1. งบแสดงฐานะทางการเงิน

เป็นส่วนที่บอกฐานะการเงินของธุรกิจ ณ เวลานั้น เพื่อจะได้รู้ว่าบริษัทมีความมั่นคง และมีความแข็งแกร่งทางธุรกิจขนาดไหน โดยมีส่วนที่ควรให้ความสนใจ คือ คุณภาพสินทรัพย์, สภาพคล่องกิจการ, ความมั่นคงของกิจการ ดูจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) และกำไรสะสม

2. งบกำไรขาดทุน

อยากรู้ว่าบริษัทมีความสามารถทำกำไรหรือไม่ ให้ดูงบกำไรขาดทุน ซึ่งควรดูทั้ง Top Line หรือ “รายได้” บรรทัดแรก และ Bottom Line หรือ “กำไรสุทธิ” บรรทัดสุดท้าย

3. งบกระแสเงินสด 

เป็นสิ่งที่ตอบได้ว่าธุรกิจนี้มีความมั่นคงแค่ไหน ด้วยการดูที่มาที่ไปของกระแสเงินสด ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน, กระแสเงินสดสุทธิจากการลงทุน และกระแสเงินสดสุทธิจากการจัดหาเงิน

4. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น  

เป็นส่วนที่แสดงการเปลี่ยนแปลงทุน ระหว่างต้นงวด จนถึงปลายงวด เช่น กำไร ขาดทุน เพิ่มทุน จ่ายปันผล ทำให้ทราบการเคลื่อนไหวของบริษัทที่ชัดเจนมากขึ้น

5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน  

งบการเงินที่สมบูรณ์ต้องมาพร้อมกับ หมายเหตุประกอบงบการเงิน ซึ่งเป็นการอธิบายอย่างละเอียดว่าแต่ละบรรทัดมีการคำนวณอย่างไร ภายใต้สมมติฐานอะไร ซึ่งแสดงถึงความโปร่งใสของการทำธุรกิจ 

สรุปแล้ว “งบการเงิน” ถือเป็นการสะท้อนผลงานของบริษัทได้ดีและชัดเจนที่สุด ดังนั้น ก่อนลงทุนหุ้นตัวใด นักลงทุนควรรู้รายละเอียดจากงบการเงินให้ถูกต้อง ครบถ้วน 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การพิจารณางบการเงินก็มีความแตกต่างกันไปในรายละเอียดของแต่ละอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มการเงินก็เป็นกลุ่มที่จะมีหนี้สินมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เป็นปกติ เป็นต้น เพราะฉะนั้น อย่าลืมนำปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาให้รอบด้านก่อนประกอบการตัดสินใจด้วย

 

Avatar photo