World News

กดดันหนัก!! เอ็นจีโอเกาหลีใต้-ไทยจี้รัฐเร่งตรวจสอบลงทุนเขื่อนลาวแตก

นักลงทุนไทย และเกาหลีใต้ ที่เข้าลงทุนในเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำทางตอนใต้ของลาว ที่เกิดเขื่อนย่อยแตกจนกระแสน้ำคร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบราย และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนจำนวนมาก กำลังโดนกดดันมากขึ้นให้ออกมารับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

37713931 333516473854441 4455663033523372032 n

กลุ่มภาคประชาสังคมทั้งในกรุงเทพมหานคร และกรุงโซล เกาหลีใต้ ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ยุติการทำงานในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย ที่ในขณะเกิดเหตุ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 80%

“ผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องยอมรับ และเรียนรู้จากผลกระทบอย่างรุนแรง ที่เกิดจากเหตุเขื่อนแตก ที่รับรู้กันไปทั่วโลก” แถลงกาารณ์จากกลุ่มจับตาการลงทุนเขื่อนลาว คณะทำงานร่วมภาคประชาสังคมเกาหลี ต่อเหตุการณ์เขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตก ระบุ

การเรียกร้องให้กลุ่มนักลงทุนออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลลาวออกมาประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 ส.ค.)ว่า จะดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับเขื่อนที่มีแผนจะก่อสร้าง และก่อสร้างแล้วทั้งหมด พร้อมระงับการลงทุนก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ และทบทวนนโยบายส่งออกไฟฟ้า เพื่อให้ลาวกลายมาเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย”

“เนื่องจากยังไม่รู้ว่า รัฐบาลลาวจะดำเนินขั้นตอนต่อไปอย่างไร เขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย จึงได้สูญเสียสิทธิตามกฎหมายทั้งหมด ที่จะเดินหน้าตามแผนการเดิมที่วางไว้ในฐานะเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ” แถลงการณ์ระบุ

387f2f62 5fcf 4f4b b881 275c7fabe060

โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน เซน้ำน้อย ซึ่งก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่าน 6 ประเทศนั้น เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง 2 บริษัทเกาหลีใต้ คือ เอสเค เอนจิเนียริง แอนด์ คอนสตรัคชัน หน่วยงานในเครือเอสเค โฮลดิ้งส์ และโคเรีย เวสเทิร์น พาวเวอร์ บริษัทของรัฐบาลเกาหลีใต้ กับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ของไทย และลาว โฮลดิ้ง สเตท เอนเตอร์ไพรซ์ ของลาว

เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นหลัง เขื่อนดินย่อย 1 ใน 5 เขื่อน มีรอยร้าว และแตกออก จากการที่ระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้มวลน้ำราว 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลทะลักออกมา ท่วมหมู่บ้านที่อยู่โดยรอบ และยังทำให้เกิดน้ำท่วมในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา

หลังจากนั้นไม่นานนัก รัฐบาลลาวประเทศว่า เขื่อนแตกมีสาเหตุมาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ในขณะที่บริษัทที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้ออกมายืนยันรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

ปัจจุบัน เอสเค เอนจิเรียริง กำลังเผชิญกับกระแสกดดันจากกลุ่มภาคประชาสังคม และสื่อในบ้านเกิดอย่างนัก กลุ่มเคลื่อนไหว 7 กลุ่ม ประกาศตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อจัดการกับหายนภัยในลาว พร้อมเรียกร้องให้ทางการเกาหลีใต้ และบริษัท ร่วมมือกับรัฐบาลลาวในการสืบสวนเรื่องนี้

“ควรจะมีการเปิดเผยรายงานกการสืบสวนอย่างละเอียดว่า มีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการเลือกสถานที่ก่อสร้าง การออกแบบ หรือการก่อสร้างหรือไม่ และบริษัทได้ดำเนินการประเมินถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างจริงใจหรือไม่” แถลงการณ์ของคณะทำงานร่วมชุดดังกล่าว ระบุ

ทางด้าน คิม โซเยียน รองศาสตราจารย์ จากสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยโซกัง แสดงความเห็นว่า บริษัทอาจจะเร่งสร้างเขื่อนเร็วเกินไป

“เป็นเรื่องการกระทำแบบเกาหลีอย่างมาก ที่บริษัทต่างๆ จะลดค่าใช้จ่ายจากแผนเดิมที่กำหนดเอาไว้ และใช้การออกแบบที่ต่ำกว่ามาตรการ หรือลดระยะเวลาการก่อสร้างลงมา เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น”

000 Hkg640814

ขณะเดียวกัน บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างก็เพิ่มการจับตาเอสเค เอนจิเนียริง โดยฮง ซุก จุน นักวิเคราะห์จากโคเรีย อินเวสเตอร์ เซอร์วิส กล่าวว่า ความสามารถทางการแข่งขันในตลาดของเอสเค เอนจิเนียริง อาจจะลดน้อยลง จากการที่ชื่อเสียงด้านการก่อสร้าง และบริหารจัดการการดำเนินงานของบริษัท ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว

ส่วนในไทยนั้น ก็มีแรงกดดันให้รัฐบาลดำเนินการทบทวนการลงทุนสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมประเมินแผนการจัดหาพลังงานใหม่

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง องค์กรนอกภาครัฐที่ติดตามความยั่งยืนของโครงการพลังงานต่างๆ ระบุว่า เหตุเขื่อนแตกในลาว ถือเป็นโอกาสที่ไทยควรจะทบทวนว่า จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนต่างๆ ในต่างประเทศหรือไม่

ถ้าหากการก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย มีแผนที่จะจัดส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ราว 90% ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight