Finance

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนพุ่งครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

k3
ภาพจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนกรกฎาคม 2561 ว่า ดัชนี KR-ECI ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากเดิมที่ระดับ 44.7 ในเดือนมิถุนายนมาอยู่ที่ระดับ 45.1 ในเดือนกรกฎาคม 2561 เนื่องจากครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อประเด็นในเรื่องของรายได้และการมีงานทำ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากครัวเรือนนอกภาคเกษตรกรรมบางส่วนได้รับค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ในช่วงกลางปี ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ช่วงฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในหลายสินค้าเกษตร ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งช่วยหนุนรายได้ครัวเรือนเกษตรให้ปรับตัวดีขึ้นในอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ มุมมองของครัวเรือนที่เป็นบวกมากขึ้นต่อเรื่องรายได้และการมีงานทำยังสอดคล้องไปกับตัวเลขการจ้างงานของประเทศที่ในเดือนกรกฎาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 651,970 อัตรา และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 260,500 อัตรา แต่ครัวเรือนยังมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ครัวเรือนมองว่าปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน 2561 สอดคล้องไปกับดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่ในเดือนกรกฎาคม 2561 ปรับตัวลดลง 0.33% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าใช้จ่าย ไม่รวมหนี้สิน ของครัวเรือนในเดือนกรกฎาคม 2561 กลับปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ตัวเลขดัชนีองค์ประกอบต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายไม่รวมหนี้สินปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่มีช่วงวันหยุดยาวที่โดยปกติทั่วไปแล้ว ครัวเรือนจะมีค่าใช้จ่ายรายการพิเศษเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมในช่วงวันหยุดยาว (27-30 ก.ค. 2561) ของครัวเรือน พบว่า การเข้าวัดทำบุญและการพักผ่อนอยู่กับบ้านเป็นสองกิจกรรมหลักที่คนไทยเลือกทำในช่วงวันหยุดยาว ที่มีวันสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ มีครัวเรือนบางส่วนเลือกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งสอดรับไปกับมาตรการภาครัฐที่กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจากเดิมที่ระดับ 46.5 ในเดือนมิถุนายนมาอยู่ที่ระดับ 46.3 ในเดือนกรกฎาคม 2561 เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนมีความกังวลว่า สภาพภูมิอากาศและสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนจะส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินในภาคเกษตรกรรมและภาคการค้า โดยเฉพาะครัวเรือนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก นอกจากนี้ หลายครัวเรือนยังกังวลว่าน้ำจะท่วมบ้านเรือนของตนเอง ซึ่งอาจจะทำให้ต้องดึงเงินออมส่วนหนึ่งมาใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือน

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในปัจจุบันแม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ เนื่องจากปัจจัยที่สนับสนุนภาวะการครองชีพของครัวเรือนเป็นปัจจัยจำเพาะและมีความไม่แน่นอน อีกทั้งการใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ของครัวเรือนยังแปรผกผันไม่สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะทำการสำรวจและติดตามภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมองไปในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ยังมีปัจจัยที่จะส่งผลต่อการครองชีพของครัวเรือนไทยซึ่งยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศที่อาจจะส่งผลต่อสถานการณ์น้ำในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK