COVID-19

ไวรัสทำ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ 10% เครียดมาก สั่งเร่งดูแลหวั่น ‘หมดไฟ’

ไวรัสโควิด-19 ทำ “บุคลากรทางการแพทย์” เกือบ 10% เครียดมากถึงมากที่สุด “กรมสุขภาพจิต” ต้องเร่งดูแล หวั่นเกิดภาวะหมดไฟ ด้านประชาชนก็เครียดเพิ่ม แนะให้ขอความช่วยเหลือได้

แก้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ประจำวันนี้ (22 เม.ย.) ว่า กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการสำรวจความเครียดของบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนทั่วไประหว่างที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 12-18 มีนาคม 2563, ครั้งที่ 2 วันที่ 30 มีนาคม-5 เมษายน 2563 และครั้งที่ 3 วันที่ 13-19 เมษายน 2563 เปรียบเทียบกัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายและส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน

report06 01 1

การสำรวจครั้งนี้พบว่า บุคลากรด้านสาธารณสุขมีความเครียดเพิ่มขึ้น จากการสำรวจครั้งแรก จำนวนผู้ที่มีความเครียดมากและมากที่สุดอยู่ที่ 6.4% ต่อมาครั้งที่ 2 เพิ่มเป็น 7.9% และครั้งที่ 3 เพิ่มเป็น 9.4%

สำหรับประชาชนทั่วไปพบว่ามีความเครียดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จากการสำรวจครั้งแรกประชาชนมีความเครียดมาและมากที่สุดคิดเป็น 4.4% ต่อมาครั้งที่ 2 เพิ่มเป็น 5.8% และครั้งที่ 3 เพิ่มเป็น 6.1%

ความเครียดที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการประกาศใช้เคอร์ฟิวและสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นภาวะฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดไปทั้งโลก จึงเป็นสถานการณ์ด้านจิตใจที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

report07 01 1

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า แม้ผู้ที่มีความเครียดจะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ 80% ที่มีความเครียดปกติ แต่ก็ต้องได้รับการดูแล เพราะแต่ละคนมีความสามารถในการปรับตัวแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความเครียดมากถึงมากที่สุด มีสัดส่วนเกือบ 10% เพราะต้องทุ่มเททำงาน จึงอาจเกิดภาวะหมดไฟ (Burn Out) ได้ เมื่อเช้าวันนี้ ประธานการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center, EOC) ของกระทรวงสาธารณสุข จึงมอบหมายให้กรมสุขภาพจิตและศูนย์สุขภาพเขตไปดูแลบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงดูแลสภาพความเป็นอยู่ ค่าตอบแทน สภาพการทำงาน ให้เกิดการหมุนเวียนและได้พักผ่อน

ด้านประชาชนที่มีความเครียดสูง ก็สามารถแสดงตัวและขอความช่วยเหลือได้ โดยทางผู้อำนวยการ ศบค. จะจัดหน่วยงานไปดูแลทั้งด้านการรักษาพยาบาล เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งสถานการณ์ความเครียดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ในต่างประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ที่เดือดร้อนก็มีปัญหาความเครียด เพราะฉะนั้นต้องเผชิญหน้าไปด้วยกันและหาทางจัดการแก้ไขปัญหา

Avatar photo