Business

มาตรการค่าไฟ ช่วยเหลือคนกลุ่มใดมากกว่ากัน? – ‘เดชรัตน์’ แนะรัฐลดค่าความพร้อมจ่ายจากเอกชน

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินการมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Decharat Sukhamnerd ระบุข้อความ มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าล่าสุดของรัฐบาลช่วยเหลือคนกลุ่มใดมากกว่ากัน?

เดชรัตน์

ผมนำตารางที่ อ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ทำมาให้ดูครับ

จากตารางดังกล่าว เราตอบคำถามดังกล่าวได้เป็น 3 แบบครับ

แบบแรก ถ้าเทียบเป็น % ของค่าไฟฟ้าที่ลดลง คนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยก็ได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าที่คิดเป็น % เยอะกว่าคนที่ใช้ไฟฟ้ามาก ตามที่แสดงในตาราง

แบบที่สอง ถ้าเทียบเป็นจำนวนเงินหรือจำนวนบาท คนที่ใช้ไฟฟ้าเยอะ ก็มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลคิดเป็นจำนวนเงินที่มากกว่า

แบบที่สาม แต่เนื่องจาก อัตราการช่วยเหลือ หรือการคิดส่วนลดจะเป็นแบบขั้นบันได เพราะฉะนั้น คนที่ใช้ไฟฟ้าได้ใกล้เคียงกับเพดานในแต่ละขั้น เช่น 800 หน่วย หรือ 3,000 หน่วย ก็จะได้รับความช่วยเหลือคิดเป็นตัวเงินมากกว่าคนอื่นๆ ในขั้นนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าถามความเห็นของผม ผมคิดว่า มาตรการนี้ควรมีเพดานขั้นสูงสุดในการช่วยเหลือ มิฉะนั้น ค่าไฟฟ้าที่คิดเป็นตัวเงินของผู้ที่ใช้ไฟฟ้ามากๆ อาจสูงมาก แม้ว่า คงจะไม่มีครัวเรือนใช้ไฟฟ้ามากเท่าที่คำนวณไว้ในตาราง

อีกอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลควรเจรจาเพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และบางส่วนของค่าไฟฟ้าฐาน เพื่อทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลง และยังเป็นการลดภาระของรัฐบาลในการจ่ายค่าไฟฟ้าแทนประชาชน ตามมาตรการที่รัฐบาลออกมาด้วยครับ

ค่าไฟ224

 

ทั้งนี้มาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมครอบคลุม 22 ล้านครอบครัว คิดเป็นวงเงินรวม 23,688 ล้านบาท โดยมาตรการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ซึ่งประชาชนต้องพิจารณาว่า ตัวเองเข้าเกณฑ์ใดดังนี้

กลุ่มที่ 1 ประเภทอัตราค่าไฟ 1.1 คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (มิเตอร์ไฟฟ้า) ขนาดไม่เกิน 5 แอมแปร์ ซึ่งมีประมาณ 10 ล้านครัวเรือน จะช่วยเหลือด้วยการขยายหน่วยการใช้ไฟฟ้าฟรีเพิ่มขึ้น จากเดิมให้ใช้ไฟฟรีที่ 90 หน่วย เป็น 150 หน่วย

กลุ่มที่ 2 ประเภทอัตราค่าไฟ 1.2 คือ ผู้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ขนาดเกินกว่า 5 แอมแปร์ จะช่วยเหลือด้วยการลด “ส่วนต่าง” ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นเดือนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19  โดยสามารถคำนวณส่วนลดแบ่งตามระดับปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 3  ระดับ ดังนี้

-ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย จะจ่ายค่าไฟเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เช่น เดือนกุมภาพันธ์ใช้ไฟฟ้า 500 หน่วย และในเดือนมีนาคมมีการใช้ไฟฟ้า 700 หน่วย ซึ่งเข้าเกณฑ์ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้าแค่ 500 หน่วยเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์

-ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้า 800-3,000 หน่วย จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าที่ใช้เกินจากเดือนกุมภาพันธ์ในอัตรา 50% เช่น เดือนกุมภาพันธ์ใช้ 500 หน่วย เดือนมีนาคมใช้ 1,000 หน่วย จะเข้าเกณฑ์ผู้ใช้ไฟฟ้า 800-3,000 หน่วย

S 187817990

ส่วนต่างหน่วยการใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบจากกุมภาพันธ์อยู่ที่ 500 หน่วย เมื่อลด 50% เท่ากับส่วนต่างใช้ไฟเพิ่ม 250 หน่วย จากนั้นนำส่วนต่าง 250 หน่วย รวมกับฐานในเดือนฐานกุมภาพันธ์จำนวน 500 หน่วย เท่ากับเดือนมีนาคมจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 750 หน่วย

-ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 3,000 หน่วย จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าที่ใช้เกินจากเดือนกุมภาพันธ์ในอัตรา 30% เช่น เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ใช้ไฟฟ้า 1,200 หน่วย เดือนมีนาคมใช้ 3,200 หน่วย ซึ่งเข้าเกณฑ์ผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 3,000 หน่วย

ส่วนต่างหน่วยใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบจากกุมภาพันธ์อยู่ที่  2,000 หน่วย คิดส่วนลด 30% จาก 2,000 หน่วยคือ 600 หน่วย เท่ากับต้องเสียส่วนเพิ่มค่าไฟที่ 1,400 หน่วย จากนั้นนำ 1,400 หน่วยไปบวกกับฐานการใช้ไฟเดือนกุมภาพันธ์ 1,200 หน่วย เท่ากับต้องจ่ายค่าไฟในเดือนมีนาคม 2,600 หน่วย

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight