Environmental Sustainability

‘Earth Day’ 22 เมษายน 63 ‘ คุ้มครองโลก-คุ้มครองเรา’ รณรงค์ออนไลน์หนี ‘โควิด-19’

วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี ถูกจัดให้เป็น “วันเอิร์ธ เดย์” (Earth Day) หรือ “วันคุ้มครองโลก” ซึ่งถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของบรรดานักอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลก โดยในปี 2563 วันคุ้มครองโลกนี้ ก็มีอายุครบ 50 ปีแล้ว

hands 600497 640

ในประเทศไทย เริ่มมีการพูดถึงวันคุ้มครองโลกเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2533 ถือเป็นการเริ่มต้นของสังคมไทยยุคเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหลังจาก “สืบ นาคะเสถียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กระทำอัตวินิบาตกรรม และเมื่ออาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบันได้จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤติการทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ประเทศไทย ยังมีการจัดงานเพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เพื่อใช้ในการปกป้องรักษาผืนป่า ที่เป็นมรดกของโลกอีกด้วย

ทุกๆ ปี เกือบทุกประเทศทั่วโลก จะพากันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เพื่อเรียกร้องให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการอนุรักษ์โลกใบนี้ไว้ เช่น

  • การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะแถบแอฟริกา เคนยา ไนจีเรีย และนามิเบีย
  • การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ในเมือง หมู่บ้าน และภูเขา
  • รณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
  • เน้นการคุมกำเนิดเพื่อให้จำนวนประชากรได้คงอยู่ในระดับคงเดิม
  • ให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  • ร่วมกันรักษาความสะอาดตามถนนหนทาง ชายหาด อุทยาน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการจัดตั้งวันคุ้มครองโลกในปีนี้ นักอนุรักษ์กลับต้องเจอกับบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไปจากเดิม เนื่องจากทั่วโลกอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เครือข่ายเอิร์ธเดย์ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการรณรงค์ โดยหันไปเน้นช่องทางออนไลน์แทน

การรณรงค์หลักในปีนี้ เป็นการจัดกิจกรรม “Earth Challenge 2020” ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมง่ายๆ ด้วยการใช้แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน  อัปโหลดรูปภาพ และแจ้งเตือนหน่วยงานท้องถิ่นเกี่ยวกับมลพิษทางขยะพลาสติกในชุมชนของตัวเอง และหลังจากนี้ผู้เชี่ยวชาญจะดำเนินการจัดเก็บ และพิกัดจากการอัปโหลดรูป และข้อมูลในโครงการนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ใดบ้างที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก เพื่อทำการรณรงค์ต่อไป

เคธลีน โรเจอร์ส ประธานเครือข่ายเอิร์ธ เดย์ (Earth Day Network) ระบุว่า ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทางองค์กรยังสนับสนุนให้ผู้คนออกมารณรงค์ในเรื่องการคุ้มครองโลก แต่ก็ต้องทำอย่างปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ ซึ่งในหลายกรณีทำได้ ด้วยการส่งเสียงของเรา เเพื่อผลักดันการเคลื่อนไหวทางออนไลน์ แทนที่จะต้องมีการพบปะกันเป็นตัวบุคคล

วิธีการรณรงค์อื่นๆ ในวันนี้ รวมถึง การประท้วงเสมือนจริง ทำโปสเตอร์ เและแชร์บนโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #EarthDayNetwork เข้าร่วมการประชุมสัมมนาออนไลน์ต่างๆ ที่เหล่านักศึกษา มหาวิทยาลัย หรือองค์กรต่างๆ จัดขึ้น แชร์เรื่องราว ภาพถ่ายการกระทำของตัวเองในเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูการแสดง การเล่นเกมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

Avatar photo