Politics

ประชาชนเชื่อมั่นความแข็งแรงเขื่อนไทย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการจัดการสถานการณ์น้ำท่วมของไทย” สำรวจระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2561  จำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการจัดการสถานการณ์น้ำท่วมของไทย

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2561 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่  87.14% ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบและ 12.86% ระบุว่า ได้รับผลกระทบ โดยผู้ที่ระบุว่า ได้รับผลกระทบ 23.46% ระบุว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด, 25.31% ระบุว่า ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก,  38.27% ระบุว่า ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย และ 12.96% ระบุว่า ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

nd121

สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมของประเทศไทยใน ทุก ๆ ปี

  • 45.63% มีปริมาณน้ำฝนมากเนื่องจากฝนตกหนัก
  • 43.17%  การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกพื้นที่ป่า
  • 37.30% การขยายตัวของเขตชุมชน และการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
  • 28.10% การบริหารจัดการของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  • 12.94%  ภูมิประเทศของประเทศไทยเป็นที่ลุ่มน้ำ ที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำหลายสาย
  • 0.79% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เขื่อนไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้หมด ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นภัยธรรมชาติ
  • 0.56% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความเชื่อมั่นต่อ โครงสร้าง ความมั่นคง ความแข็งแรง ของเขื่อนในประเทศไทย

  • 78.73% ระบุว่ามีความเชื่อมั่น เพราะ วิศวกรมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้าง ออกแบบมาอย่างดี มีความแข็งแรงคงทน และจากสถานการณ์ที่ผ่านมาก็ยัง ไม่เคยมีปัญหาเกิดขึ้น
  • 17.30% ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่น เพราะ สร้างมาเป็นเวลานานโครงสร้างต่าง ๆ ก็เสื่อมลงตามกาลเวลา ไม่ค่อยได้ลงไปตรวจสอบคุณภาพความแข็งแรงของเขื่อนเท่าที่ควร ขณะที่บางส่วนระบุว่า ภัยธรรมชาติเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่แน่นอน และไม่สามารถควบคุมได้
  • 3.97% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำท่วม ของหน่วยงานรัฐ

  • 14.28% ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก
  • 49.36% มีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก
  • 29.05% ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
  • 4.29% ไม่มีประสิทธิภาพเลย
  • 3.02% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

โดยผู้ที่ระบุว่า มีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก – มาก ได้ให้เหตุผลว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเร่งดำเนินงานอย่างเต็มที่ และหาแนวทางการป้องกันอย่างจริงจัง ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ – ไม่มีประสิทธิภาพเลย ให้เหตุผลว่า ไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ช่วงหน้าฝน หรือการผันน้ำที่ดี อุปกรณ์ไม่เพียงพอ การทำงานล่าช้า และแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด

สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการน้ำท่วมของประเทศไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 39.37% ระบุว่า ให้มีการบริหารจัดการเรื่องการระบายน้ำกับทุกเขื่อนในประเทศไทยสม่ำเสมอ รองลงมา 35.40% ระบุว่า หน่วยงานรัฐมีการบริหารจัดการน้ำที่มีระบบและมีประสิทธิภาพ, 30.87% ระบุว่า ติดตั้งสัญญาณเตือนภัยน้ำท่วมทุกจังหวัดที่ประสบภัยทุกปี, 28.41% ระบุว่า ตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนทุกเขื่อนสม่ำเสมอ, 21.67 ระบุว่า จัดตั้งหน่วยงานช่วยเหลือด้านน้ำท่วมโดยเฉพาะ, 14.84% ระบุว่า จัดเวรยาม เฝ้าระวังน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง,  3.41% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ รณรงค์ปลูกต้นไม้ทดแทน ลดการตัดไม้ทำลายป่า มีมาตรการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่ม ขณะที่บางส่วนระบุว่า การบริหารจัดการตอนนี้ดีอยู่แล้ว และ 3.33% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

nd12

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight